การนำนิทานหรือเรื่องเล่าต่างๆ มาดัดแปลงนั้นก็เป็นการ์ตูนอีกรูปแบบนึงซึ่งผมค่อนข้างชอบเป็นพิเศษ เพราะมักจะได้เห็นตัวละครจากเรื่องที่คุ้นเคยในสมัยเด็ก ถูกนำมาเขียนใหม่เล่าใหม่ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่จินตนาการของผู้เขียนแต่ละคน ทำให้เราซึ่งเป็นผู้อ่านผู้ชมก็เหมือนจะได้เปิดจินตนาการให้กว้างขึ้นไปด้วยเช่นกัน
อนิเมะที่โดดเด่นในรูปแบบนี้ก็คงจะไม่พ้น Ookami-san to Shichi-nin no Nakama (หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่า คุณหมาป่ากับพวกพ้องทั้งเจ็ด) ที่นำเหล่านิทานอีสปและเรื่องเล่าของญี่ปุ่นหลายเรื่องมาใส่รวมกัน โดยเฉพาะเรื่องหนูน้อยหมวกแดง ซึ่งเป็นที่มาของตัวเอกทั้งสามตัว (โอคามิ เรียวโกะ – หมาป่า, โมริโนะ เรียวชิ – นายพราน, อาคาอิ ริงโงะ – หนูน้อยหมวกแดง) เรื่องนี้นอกจากตัวละครแต่ละตัวจะมีที่มาของตนเองแล้ว บางทีจะยังมีการนำไปปนกับเรื่องอื่นด้วย เช่น ริวงู โอโตฮิเมะ ที่เดิมทีมีที่มาจากเต่าในเรื่องอุราชิมะทาโร่ แต่ก็ถูกนำไปผูกกับเต่าในเรื่องกระต่ายกับเต่า อีกทั้งในแต่ละตอนก็จะมีธีมมาจากการ์ตูนแต่ละเรื่องเช่นกัน รวมกับการที่มีนักพากย์พิเศษผู้ที่คอยทำหน้าที่เล่าเรื่องอยู่ตลอด ทำให้ทั้งเรื่องนี้เต็มไปด้วยกลิ่นอายของนิทานอยู่เต็มเปี่ยม
หนูน้อยหมวกแดงชาช่า (Akazukin Chacha) เป็นอีกเรื่องที่นำคอนเซปต์ของหนูน้อยหมวกแดงมาใช้สร้างตัวละครหลักของเรื่อง และโครงเรื่องหลักก็ได้นำมาจากนิทานเรื่องนี้เช่นกัน และใส่ความเป็นสาวน้อยเวทมนตร์เพิ่มลงไป ดังนั้นเรื่องนี้จึงดูคล้ายกับการ์ตูนสาวน้อยเวทมนตร์ธรรมดาๆ ที่มีตัวละครเป็นหนูน้อยหมวกแดงเท่านั้น
หรือแม้กระทั่งการ์ตูนเรื่องดังอย่าง One Piece ก็ได้มีการนำนิทานมาสร้างเป็นตัวละครเช่นกัน โดยตัวละครที่ว่านี้ก็คืออุซป ที่มีที่มาจากเด็กเลี้ยงแกะและพิน็อกคิโอ้นำนิสัยชอบโกหกมาผสมกัน โดยสังเกตได้จากชื่อของตัวละครที่มาจากคำว่า อุโซะ (嘘 – โกหก) หากใครจำได้ตอนที่ลูฟี่พบกับอุซปครั้งแรก อุซปมักจะคอยโกหกผู้คนในหมู่บ้านว่ามีโจรสลัดมาบุกอยู่บ่อยๆ จนพอมีโจรสลัดบุกมาจริงๆ ก็ไม่มีใครเชื่อ ซึ่งส่วนนี้นั้นก็มีความคล้ายคลึงกับในเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ และจมูกยาวๆ ก็คาดว่าได้มาจากพิน็อกคิโอ้นั่นเอง
ตัวเอกของเรื่องกินทามะ ซากาตะ กินโทกิ เองก็มีที่มาจากตัวละครในนิยายเช่นกัน โดยต้นแบบของเขาคือ คินทาโร่ หรือ ซากาตะ คินโทกิ (坂田金時) เด็กหนุ่มผู้มีพละกำลังเหนือมนุษย์ โดยชื่อของกินโทกินั้นได้มาจากการแปลงตัวคิน (金 – ทอง) ในชื่อของคินโทกิ ให้กลายเป็นตัวกิน (銀 – เงิน) เพื่อล้อเลียนนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมี สโนไวท์ผมแดง (Akagami no Shirayuki-hime) ที่ถึงจะไม่บอกก็คงจะเดากันได้ว่าได้นำนิทานเรื่องสโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ดมาดัดแปลง แต่ในเรื่องนี้นั้นถูกนำมาตีความใหม่แทบจะยกกระบิเลย เพราะในคราวนี้ชิรายูกิ หรือสโนไวท์ ตัวเอกของเรื่องนั้นไม่ได้กัดแอปเปิลและนอนนิ่งกลายเป็นผักรอเจ้าชายมาจูบ แต่เธอกลับมุ่งมั่นศึกษาเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องยาและการแพทย์ เพื่อที่จะสามารถขึ้นไปยืนเคียงคู่กับเจ้าชายได้อย่างสมภาคภูมิ ไม่ได้รอคอยการช่วยเหลืออยู่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป
ตำนานชื่อดังจากประเทศจีนอย่างไซอิ๋วเองก็ถูกนำมาดัดแปลงเช่นกัน อย่างดราก้อนบอลที่มีซุนโกคู ตัวละครหลักซึ่งมีต้นแบบมาจากหงอคงในเรื่องไซอิ๋ว รวมทั้งตัวละครหลายๆ ตัวเองก็เช่นกัน หรือเรื่องไซยูกิ สี่แสบฝ่าแดนทมิฬที่นำเนื้อเรื่องของไซอิ๋วมาดัดแปลงให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนมีหลายเรื่องที่นำคอนเซปต์เหล่านี้มาใช้ ทั้งใช้เป็นโครงเรื่องหลักทั้งหมด หรือนำมาดัดแปลงกับแค่ตัวละครบางตัวก็ตาม แต่ก็ยังเป็นคอนเซปต์ที่ไม่ว่าเมื่อไรก็ทำให้ผมสนใจได้อยู่ตลอด แถมยังเป็นอีกรูปแบบที่สามารถดัดแปลงไปได้ไม่รู้จบอีก เพราะเหล่านิยาย นิทาน เรื่องเล่า หรือตำนานต่างๆ นั้นมีนับไม่ถ้วนทั่วโลก ทำให้สามารถนำมาเขียนถึงได้อย่างมากมาย แถมแต่ละคนต่างก็มีจินตนาการเป็นของตนเองอีก ต่อให้นำเรื่องเดียวกันมาพูดถึง ก็อาจจะได้การ์ตูนที่มีรูปแบบและเนื้อเรื่องแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็ได้