ถ้าใครไปญี่ปุ่นจะสังเกตได้ว่าน้องๆ เด็กอนุบาลหรือประถมตัวเล็กๆ จะสะพายกระเป๋าเป้นักเรียนซึ่งห้อยพวงกุญแจที่หน้าตาคล้ายกันแทบทุกคน บ้างก็เป็นปุ่มกดใหญ่ๆ หนึ่งปุ่มหรือบ้างก็มีสลักไว้ให้ดึง แต่อย่าได้ไปกดหรือดึงเล่นเชียวนะ ไม่งั้นมันจะดังลั่นยิ่งกว่าเสียงเครื่องบินเสียอีก เพราะมันคือ สัญญาณกันโจร หรือ โบฮังบัซเซอร์ ยังไงล่ะ
เจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้มีหน้าที่ตามชื่อของมันนั่นคือไว้ป้องกันตัวจากคนร้าย วิธีใช้งานคือเมื่อเรากำลังจะถูกทำร้ายหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายให้ดึงสลักที่เสียบไว้กับเครื่อง มันก็จะส่งเสียงร้องออกมาพร้อมกับมีไฟกระพริบซึ่งจะช่วยให้คนที่อยู่ใกล้ๆ ได้ยินและเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็ทำให้คนร้ายตกใจและวิ่งหนีไปก่อนด้วย (หรือไม่ก็เป็นเราที่ฉวยโอกาสวิ่งหนีขณะที่คนร้ายกำลังชะงัก) เสียงออดนี้ดังถึง 85-130 เดซิเบล ซึ่งผู้ผลิตเขาบอกว่าดังยิ่งกว่าเสียงเครื่องยนต์เจ็ตของเครื่องบินหรือเสียงรถไฟวิ่งผ่าน เพราะฉะนั้นต่อให้เกิดเหตุขึ้นที่ไหนก็จะมีคนได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือนี้อย่างแน่นอน
โบฮังบัซเซอร์นั้นนิยมใช้ในหมู่เด็กที่ป้องกันตัวเองไม่ได้และผู้หญิงที่ต้องเดินทางผ่านเส้นทางเปลี่ยวเป็นประจำ แต่เจ้าเครื่องนี้ไม่ได้มีประโยชน์แค่เพียงกันโจรเท่านั้นนะ แต่ยังใช้ได้กับทุกสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่อาจหกล้มแล้วช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือคนธรรมดาที่ประสบภัยพิบัติ เช่น ติดอยู่ในซากตึกถล่ม แผ่นดินไหว อุบัติเหตุบนยวดยานต่างๆ ก็สามารถใช้ส่งเสียงเพื่อให้หน่วยกู้ภัยรู้ตำแหน่งของตนและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้

แม้ว่าโบฮังบัซเซอร์จะมีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมาหลายสิบปีแล้ว โดยมีบริษัทมิตซูชิฮะอิเล็กทริกส์ (พานาโซนิคในปัจจุบัน) เป็นผู้ประดิษฐ์และจำหน่ายครั้งแรกในราวปี 1960 แต่มันเพิ่งได้รับความนิยมเมื่อต้นปี 2000 ที่ผ่านมานี้เองหลังจากเกิดเหตุอาชญากรรมกับเด็กมากขึ้นและสถานศึกษาและเทศบาลเมืองต่างๆ ก็ได้จัดซื้อและแจกให้เด็กทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ประกอบกับเมื่อโทรศัพท์มือถือเป็นที่แพร่หลายมาก ผู้ใช้ที่เป็นผู้ใหญ่ก็หันไปใช้มือถือซึ่งมีแอปโทรเบอร์ฉุกเฉินฝังในเครื่องแทน เด็กๆ จึงกลายเป็นผู้ใช้โบฮังบัซเซอร์กลุ่มใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
และด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตรายต่างๆ จึงทำให้เครื่องสัญญาณฉุกเฉินนี้มีหน้าตาน่าใช้ถูกใจเด็กๆ มากขึ้น บ้างก็ทำเป็นลายตัวการ์ตูนต่างๆ บ้างก็ออกแบบให้ดูเหมือนพวงกุญแจที่ใช้ประดับเพื่อความสวยงามจนดูเผินๆ จะไม่รู้ว่าเป็นโบฮังบัซเซอร์เสียด้วยซ้ำ
นอกจากนี้โบฮังบัซเซอร์ในปัจจุบันยังถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะมีสัญญาณเตือนเมื่อแบตเตอรีต่ำ ทนทาน กันน้ำ หรือชาร์จกับสาย USB ได้ บางรุ่นยังสามารถส่งสัญญาณ GPS เพื่อติดตามตำแหน่งได้จากแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือได้ตลอดเวลาและยังส่งตำแหน่งสุดท้ายเข้าอีเมลที่ระบุไว้ทันทีที่สลักถูกดึงอีกต่างหาก และยังมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์รายใหญ่ๆ เช่นโดโคโมะและซอฟต์แบงก์ที่ออกอุปกรณ์ที่เป็นลูกครึ่งระหว่างมือถือกับโบฮังบัซเซอร์ นั่นคือส่งเสียงร้องได้และมีหน้าตาคล้ายกับโบฮังบัซเซอร์ แต่พูดคุยกับคอลเซ็นเตอร์ของเบอร์ฉุกเฉินและติดตามตำแหน่ง GPS ได้เหมือนโทรศัพท์มือถืออีกด้วย
โบฮังบัซเซอร์มีจำหน่ายทั่วไปตามร้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่น สนนราคาประมาณ 1,000 เยน (ประมาณ 300 บาท) ไล่เรียงไปตามฟังก์ชันและดีไซน์ หากพบเจอเมื่อไหร่และซื้อติดตัวไว้ ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งมันอาจช่วยชีวิตเราจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็ได้นะ
อ้างอิง
ja.wikipedia.org, สำนักงานเขตชินากาวะ, japantimes.jp, sakidori.jp, ehime-np.co.jp