ในยามที่เราเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติเหตุต่างๆ อย่างแรกที่นึกถึงก็คงต้องเป็น หมอ แต่ใครจะรู้ว่าบนโลกใบนี้จะมีหมอที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อรักษาคนไข้เสมอไป พวกเขากลับมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คอยปกปิดคนไข้อย่างพวกเราไว้ วันนี้เราจะมาเปิดแฟ้มของวงการแพทย์ญี่ปุ่นที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังจนยากที่จะคาดถึง
(บทความต่อไปนี้จะนำเสนอเรื่องราวจากซีรีส์ญี่ปุ่นเป็นหลัก)
ชนชั้นในโรงพยาบาล
ไม่ว่าจะอยู่วงการไหนก็ย่อมมีลำดับชนชั้นอยู่เสมอ กับวงการแพทย์ก็เช่นเดียวกันที่ลำดับชนชั้นในโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่ใครก็โหยหาอยากได้มาครอง เพราะถ้ายิ่งได้ตำแหน่งสูงมากแค่ไหน นอกจากเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นแล้วก็ยังได้ชื่อเสียงและมีคนเคารพยำเกรงมากเท่านั้น
ลำดับชนชั้นนี้ไม่ได้มีแค่เฉพาะในบรรดาหมอธรรมดา แต่สำหรับหมอฝึกหัดก็เช่นเดียวกันเมื่อพ่อแม่เป็นหมอในโรงพยาบาลที่ฝึกอยู่นั้น ลำดับของพ่อแม่ก็จะเป็นคนกำหนดฐานะต่ำสูงของลูก อย่างเช่นถ้าพ่อหรือแม่เป็นผอ.หรือหัวหน้า คนที่เป็นลูกก็มีอำนาจสูงตามลำดับของพ่อแม่ ทำให้คนที่เป็นหมอฝึกหัดตัวคนเดียวหรือมีพ่อแม่เป็นหมอธรรมดาก็จะถูกกดขี่ข่มเหงกลั่นแกล้ง อีกทั้งลูกหลานหมอจะเลื่อนขั้นง่ายกว่าหมอที่พยายามจากใจจริง เรียกได้ว่าแม้เก่งแค่ไหนแต่ก็แพ้ลูกหลานหมอ ดังนั้น เส้นสายจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในวงการนี้
ชื่อเสียงของคนไข้สำคัญกว่าชีวิต
ชีวิตคนเรามีค่าไม่เท่ากัน
ประโยคที่กล่าวมาไม่ใช่เป็นแค่คำพูดสวยหรูแต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคมทุกวันนี้ ถ้าจะให้เปรียบเทียบกับรัฐมนตรีที่เป็นไส้ติ่งกับชาวบ้านทั่วไปที่โดนรถชนอาการสาหัส แน่นอนว่าทางโรงพยาบาลจะออกคำสั่งให้หมอที่มีฝีมือรักษารัฐมนตรีก่อน เพราะถ้ารักษาให้หายได้นอกจากทางโรงพยาบาลจะได้รับชื่อเสียงเป็นสิ่งตอบแทน ยังได้รับเงินมหาศาลและความไว้วางใจจากคนไข้คนนั้นด้วย โดยเฉพาะหมอที่เก่งที่สุดในแผนกจะโดนเล็งและใช้งานเป็นพิเศษ แม้ใจจะอยากรักษาคนที่อาการสาหัสแทบตายแต่ก็มิอาจฝ่าฝืนคำสั่งจากเบื้องบนได้
ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะคนใหญ่คนโตนักการเมืองหรือดาราที่มีชื่อเสียงในสังคมเท่านั้น แต่คนที่บริจาคเงินให้โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่บริจาคมาเป็นระยะเวลานานย่อมมีความสำคัญมากกว่าบุคคลทั่วไป ถ้าไม่มีคนบริจาคเงินมหาศาลทางโรงพยาบาลก็จะขาดแหล่งเงินสนับสนุนเจ้าใหญ่ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทางโรงพยาบาลจะง้อคนมีเงินและมีชื่อเสียงกว่า
งานวิจัยคือชีวิต
การเป็นหมอเริ่มต้นจากการเป็นแพทย์ฝึกหัดในโรงพยาบาลก่อนจะเลื่อนขั้นเป็นหมอที่ได้ทดลองสนามจริง ลงมือรักษาคนไข้ด้วยตนเองจริง แต่การกระทำเหล่านี้เป็นเรื่องที่เสียเวลาสำหรับหมอบางคนที่อุทิศเวลาและชีวิตให้กับ งานวิจัย ถ้าถามว่างานวิจัยสำคัญกับชีวิตหมออย่างไร บอกได้เลยว่าสำคัญมาก ชื่อเสียงของหมอในโรงพยาบาลจะมาจากจำนวนงานวิจัยมากกว่างานผ่าตัด
หมอที่คลั่งงานวิจัยมากๆ จะไม่ลงมือผ่าตัดหรือรักษาคนไข้อย่างจริงจังแต่จะเอาเวลาไปมุ่งมั่นกับการทำงานวิจัยเพื่อเสนอให้ตัวเองได้เลื่อนเป็นศาสตราจารย์ของแผนก หรือถ้าอย่างที่หวังไว้สูงสุดคงเป็นผอ.ของโรงพยาบาลเลยทีเดียว โดยจะใช้ข้ออ้างที่ว่า ถ้าสร้างงานวิจัยใหม่ๆ ได้สำเร็จก็จะช่วยผู้ป่วยได้เป็นหมื่นเป็นพันคนเพราะฉะนั้นงานวิจัยจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหมอ ทำให้หมอบางคนตัดสินใจเลือกเข้าทำงานที่โรงพยาบาลรัฐฯ หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเหตุผลก็เพราะถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ค่าตอบแทนต่ำจะทำให้มีเวลาในการทำวิจัยมากกว่าโรงพยาบาลเอกชน ด้วยเหตุนี้ทางโรงพยาบาลรัฐจึงกลายเป็นสถานที่ที่มีค่าต่องานวิจัย
แต่ในแง่ของการสร้างงานวิจัยจะไม่ได้มีแต่หมอที่คลั่งงานวิจัยเพื่อเลื่อนตำแหน่งเสมอไป ยังมีหมอที่พยายามสร้างงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือผู้คนจากใจจริง แต่ทว่าถ้าเป็นหมอที่อยู่ตำแหน่งล่าง แต่สามารถสร้างผลงานวิจัยออกมาได้ดีจนถูกใจหมอระดับสูง งานวิจัยชิ้นนั้นก็จะถูกขโมยหรือถูกนำไปยกให้กับผู้ที่สูงกว่า มีหมอไม่น้อยที่สูญเสียความตั้งใจไปกับการถูกขโมยผลงานของตัวเอง
นายหน้าเครื่องมือแพทย์และยา
มีอีกอย่างที่เราไม่รู้ในวงการแพทย์ก็คือ ในโรงพยาบาลหรือหมอชั้นสูงคนใหญ่คนโตจะมีการติดต่อส่วนตัวกับ นายหน้าเครื่องมือแพทย์และยา ซึ่งจะทำหน้าที่คอยเสนอเครื่องมือหรือยาใหม่ๆ ให้กับหมอที่ต้องการนำไปใช้รักษาคนไข้ที่นอกเหนือจากที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้เอง โดยจะแลกกับเงินใต้โต๊ะจำนวนหนึ่ง หรือหมอบางคนนำยาที่ได้รับนั้นแอบมาทดลองใช้กับคนไข้ก็มี แล้วถ้ารักษาได้ผลก็นำยานั้นขายกลับให้นายหน้าขายยา ส่วนใหญ่จะแอบทดลองใช้กับคนไข้ที่เป็นระยะสุดท้ายเพราะถ้าเกิดพลาดตายไปก็ยังไม่มีใครสงสัยอยู่ดี นายหน้าประเภทนี้จึงเป็นหนึ่งในเบื้องหลังที่คนนอกไม่ค่อยรู้
แม้จะเก่งแค่ไหน แต่ถ้าเป็นผู้หญิงก็หมดสิทธิ์เป็นหมอ
อย่างที่รู้กันว่าประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำครอบครัวล้วนเป็นผู้ชายหมด หน้าที่ของผู้หญิงในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะอยู่บ้านเลี้ยงลูกและทำงานบ้านซะมากกว่า อย่างข่าวดังที่ผ่านมากรณีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งโตเกียวที่กดคะแนนและแก้ไขผลสอบแอดมินชันของนักเรียนหญิงที่สมัครเข้าเรียนคณะแพทย์ให้ต่ำลง 10-20% เพื่อให้ผู้ชายมีโอกาสในการเข้าเรียนได้มากกว่า เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมองว่าหมอที่เป็นผู้หญิงจะทำงานไม่นานเท่าหมอผู้ชาย เพราะต้องหยุดลาคลอดบ้างหรือแต่งงานแล้วก็ลาออกไปอยู่บ้านถาวรเพื่อดูแลครอบครัวบ้าง ทางวงการแพทย์จึงมองว่าเป็นการเสียเวลาที่อุตส่าห์รับเข้ามาทำงานแต่หมอที่เป็นผู้หญิงก็ไม่สามารถทำงานให้ได้เต็มประสิทธิภาพ เราจึงไม่ค่อยพบเห็นหมอที่เป็นผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่นกันเท่าไรนัก
หมอไม่ใช่อาสาสมัคร
อย่างที่บอกว่าจะมีหมอประเภทที่คลั่งงานวิจัยเป็นชีวิต วันๆ เอาแต่ทำวิจัยจนไม่สนชีวิตคนไข้ หรือรักษาคนไข้แบบขอไปที รวมถึงมีการวินิจฉัยแบบเป็นผิดๆ เพราะหมอประเภทนี้จะคิดว่าตัวเองไม่ใช่อาสาสมัคร ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทให้คนไข้ถึงขนาดนั้น อย่างถ้ามีเด็กกำพร้าหรือผู้ป่วยไร้ญาติเข้ารักษาฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลจะมองว่าผู้ป่วยประเภทนี้เป็นปัญหาเพราะไม่รู้ว่าจะเก็บค่ารักษาพยาบาลได้จากใคร ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีคนรับผิดชอบด้านการเงินให้ หรือจะมีหมอที่ทำตัวสนิทกับคนไข้ด้วยใจก็จะโดนหมอประเภทนี้มองว่า ต่อให้สนิทกับคนไข้แต่ถ้าไม่สามารถสนับสนุนความก้าวหน้าของวงการแพทย์ได้ก็ย่อมไม่จำเป็นสำหรับโรงพยาบาล
ผู้คุ้มครองหมอ
ปกติแล้วทางโรงพยาบาลใหญ่จะมีทนายประจำตัวไว้เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายสำหรับโรงพยาบาลโดยเฉพาะ ในกรณีที่คนไข้หรือญาติคนไข้ฟ้องร้องเวลาที่คนไข้เสียชีวิตหรือมีการรักษาผิดพลาด ทางโรงพยาบาลก็จะส่งทนายไปคุยไกล่เกลี่ย ซึ่งทนายประจำจะมีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายในแง่ของวงการแพทย์เป็นพิเศษ ส่วนใหญ่คนไข้ที่จะตัดสินใจฟ้องจะเอาเรื่องไม่ได้ เพราะตัวคนไข้เป็นคนเซ็นชื่อยินยอมเองในการรักษาเอง ทำให้โอกาสชนะในศาลจะอยู่ที่แค่ 20% สำหรับตัวคนไข้ อีกทั้งยังมีกรณีที่คนไข้หรือญาติบางคนเพียงแค่โดนคำพูดปลอบประโลมพร้อมวางเงินสินน้ำใจให้นิดหน่อยก็ยอมจบคดีได้โดยไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลแล้ว
ทั้งนี้บางโรงพยาบาลยังมีการอบรมพิเศษจากทนายเพื่อแนะแนวให้หมอรับมือกับคนไข้ ทั้งเรื่องการเรียกร้องอย่างไม่สมเหตุสมผลจากคนไข้ เพื่อที่ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นหมอจะได้รับมืออย่างมีสติในการปกป้องตัวเอง สิ่งสำคัญก็คือต้องยืนกรานคือ การไม่ยอมรับความผิดพลาดใดๆ เพราะถือว่าถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องจริง
คนไข้คือหนูทดลอง
คนไข้ไม่ใช่วัตถุดิบในงานวิจัยของหมอ หรือเครื่องมือที่นำไปสู่ความก้าวหน้า
นอกจากหมอที่วันๆ เอาแต่ทำวิจัย ยังมีหมอประเภทที่ใช้คนไข้เป็นเครื่องมือในการทดลองยาหรือวิธีการรักษาแบบใหม่ อย่างกรณีการผ่าตัดที่ใช้วิธีนอกเหนือตำราที่เรียนมา เพื่อที่ถ้าผลการทดลองสำเร็จจะได้นำไปเสนอต่อผู้ใหญ่ได้ หมอที่ใช้คนไข้เป็นหนูทดลองจะไม่สนใจการตายของคนไข้ เพราะถือว่าเป็นการทดลอง จะมีความคิดที่ว่ายังไม่ได้เป็นหมอเต็มตัวจนกว่าจะทำคนไข้ตาย 3 คน และถ้ากลัวความล้มเหลวก็จะไม่สามารถสร้างชื่อได้ สรุปแล้วจนแล้วจะรอดที่ทำไปก็เพื่อชื่อเสียงอยู่ดี
ทั้งนี้จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าหมอทุกคนจะเป็นแบบนั้น แต่เป็นเรื่องราวการเมืองในวงการแพทย์ที่คนไข้อย่างเราเข้าไปรู้ความจริงไม่ได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามหมอก็เป็นอาชีพหนึ่งที่สำคัญต่อมนุษย์และเป็นอาชีพที่คนไข้พร้อมจะฝากชีวิตไว้ให้ ดังนั้น ผู้เป็นหมอต้องคำนึงเสมอว่าถ้าคนไข้ไม่สามารถเชื่อใจหมอในโรงพยาบาลได้ แล้วเขาจะเชื่อใครได้อีก?
ซีรีส์และมังงะที่เกี่ยวกับด้านมืดของแพทย์ญี่ปุ่น
- Alice no Toge
- Monster
- Kindaichi Shonen no Jikenbo neo
- Doctor-X