ถ้าพูดถึง งานศพ คงไม่มีใครอยากนึกถึงและไม่อยากไปร่วมเท่าไรนัก เพราะเป็นสถานที่ที่รวมความเศร้าโศกถึงผู้ตายเอาไว้ แต่จุดประสงค์หลักของงานศพก็คือเป็นพิธีกรรมที่จัดให้ผู้ตายที่ลาจากโลกนี้ไปแล้วโดยเฉพาะ จึงมีความละเอียดและขั้นตอนมากมายที่ควรพึงปฏิบัติ และถ้าเกิดในอนาคตเราได้มีโอกาสได้ไปงานศพญี่ปุ่นล่ะ? เชื่อว่าจะต้องมีขั้นตอนที่เยอะไม่แพ้เราแน่นอน ไปดูกันดีกว่าว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างนะถึงให้ถูกหลักธรรมเนียมของคนญี่ปุ่น
เมื่อเพิ่งรู้ข่าว อย่ารีบเตรียมเงินใส่ซอง
ถ้าในกรณีที่เราเป็นญาติหรือเพื่อนที่รู้ข่าวเป็นคนกลุ่มแรกๆ เท่ากับว่าเราเป็นคนที่ทางครอบครัวผู้เสียชีวิตไว้เนื้อเชื่อใจ หากทางเขาเชิญไปร่วมไว้อาลัยในวันนั้นเลย ก็ยังไม่ต้องนำเงินใส่ซองไปให้ เพราะเป็นเหมือนกับว่าเรารีบหรือมีการเตรียมไว้ล่วงหน้าจะดูเป็นเรื่องที่เสียมารยาทมาก
ไม่สอบถามสาเหตุการเสียชีวิตทางโทรศัพท์
เมื่อรู้ข่าวการเสียชีวิตจากทางโทรศัพท์หรือทางโซเชียล เป็นธรรมดาของคนเราที่อยากรู้อยากเห็นในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ก็ควรจะรักษามารยาทเอาไว้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียมารยาทจึงไม่ควรถามถึงสาเหตุการเสียชีวิต เพราะทางครอบครัวอาจไม่ต้องการบอกให้คนอื่นทราบ ถ้าเขาอยากบอกให้เรารู้ เขาก็จะบอกเอง ทางเราจึงทำเพียงแค่กล่าวแสดงความเสียใจสั้นๆ และถามถึงรายละเอียดงานต่อจากนี้ เช่น กำหนดวันพิธีศพ หรืออาจถามว่าควรแจ้งการเสียชีวิตนี้ให้คนอื่นทราบด้วยไหม ถ้าเขาไม่อนุญาตก็ไม่ควรไปเล่าให้ใครฟัง
จุดเทียนให้สว่างและเฝ้าศพทั้งคืน
ถ้าเป็นบ้านเราเมื่อนำร่างผู้เสียชีวิตมาไว้ที่งานแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องอยู่เฝ้าทั้งคืนก็ได้ กลับกันถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นทางครอบครัวหรือคนสนิทของผู้เสียชีวิตจะต้องอยู่เฝ้าทั้งคืน และจะต้องจุดเทียนให้สว่างไสวอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นป้องกันไม่ให้วิญญาณร้ายมาสิงสู่ที่ร่าง ในปัจจุบันถ้ามาร่วมพิธีศพไม่ได้ ก็สามารถมาแค่เฝ้าศพได้เช่นกัน และเพราะธรรมเนียมการเฝ้าศพเป็นเรื่องกระทันหันในการทราบข่าว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องแต่งชุดแบบทางการก็ได้
พิธีศพ = ครอบครัวญาติ / พิธีอำลา = คนทั่วไป
ตรงข้อนี้อาจจะมีความคล้ายกับของไทยอยู่ ที่วันพิธีศพมาเฉพาะครอบครัวหรือคนใกล้ชิดผู้เสียชีวิต จัดขึ้นเพื่อส่งผู้ตายไปสู่สุขคติ ส่วนวันพิธีอำลาจะเป็นให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกล่าวอำลาถึงผู้เสียชีวิตและคนทั่วไปสามารถเข้ามาร่วมแสดงความเสียใจได้ จึงแบ่งได้เป็นพิธีศพเป็นงานของครอบครัวและของคนทั่วไป หากไม่มีการเชิญจึงไม่ควรไปเข้าร่วม แต่ปัจจุบันทางญี่ปุ่นมีไม่น้อยแห่งที่นิยมจัดขึ้นในวันเดียวกัน
ไม่แต่งหน้าหรือแต่งตัวจัดจ้าน
เรื่องการแต่งตัวและแต่งหน้าไปร่วมงานศพนั้นน่าจะเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนควรทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าไม่ควรแต่งจัดจ้าน เพราะเรามาร่วมอำลาโศกเศร้าให้กับผู้เสียชีวิตจึงไม่จำเป็นจะต้องสวยไปเพื่อใครแค่ให้ดูเป็นทางการและเรียบร้อยเป็นพอ แต่ต่อให้แต่งแบบเรียบง่ายเท่าใดก็มีข้อบังคับในการแต่งกายอยู่ไม่น้อย ดังนี้
ถ้างานศพแบบพุทธให้พกลูกประคำไปด้วย
ผู้หญิง
- สวมชุดกระโปรงสีดำเป็นทางการ
- กระโปรงยาวคลุมเข่า
- แม้เป็นหน้าร้อนก็ไม่ควรใส่เปิดแขนและเสื้อคอกว้าง
- ใส่ถุงน่องสีดำ
- รวบผมให้เรียบร้อย
- ไม่แต่งหน้าจัด
- ใช้น้ำหอมกลิ่นอ่อนๆ พอ
- สวมแค่สร้อยมุกหรือต่างหูเรียบๆ
- ถ้าไม่ใช่แหวนแต่งงานควรถอดออก
ผู้ชาย
- สวมสูทสีดำ
- เสื้อเชิ้ตสีขาว
- เน็กไทสีดำด้าน
- สวมถุงเท้าสีดำ
- ไม่ควรสวมรองเท้าหนังมันวาว
ไม่ควรสวมโค้ทที่ทำจากหนังสัตว์
มีคนญี่ปุ่นไม่น้อยที่นิยมใส่โค้ทหรือเสื้อผ้าที่ทำจากหนังสัตว์ เพราะนอกจากจะทำให้อบอุ่นแล้วยังทำให้ดูดีมีคลาสอีก แต่ไม่ใช่กับงานศพของญี่ปุ่นที่ต่อให้เป็นสีดำที่เป็นสีทางการก็ไม่อนุญาตให้สวมเข้างานศพ เป็นเพราะว่าการที่สวมชุดที่ทำจากหนังสัตว์เป็นการแสดงให้เห็นถึงการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อย่างที่หลายคนรู้กันว่ากว่าจะได้ชุดแบบนี้มาต้องมีการฆ่าสัตว์ไปไม่มากก็น้อย ยิ่งในงานศพเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อคนตายแล้ว คนญี่ปุ่นจึงไม่ต้องการสิ่งที่แสดงให้ถึงการตาย การฆ่าอีกนั่นเอง
ห้ามใช้แบงก์ใหม่ใส่ซอง
ตามธรรมเนียมของทั้งไทยญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะมีจุดที่คล้ายกัน อย่างเช่น การใส่ซองช่วยงานศพ เงินส่วนนี้จะเป็นเงินที่มอบให้แทนค่าธูปหรือผงกำยานผง แต่ถ้ามอบของหรือดอกไม้ไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้เงินใส่ซองก็ได้ ญาติหรือคนสนิทส่วนใหญ่จะให้ทั้งสองอย่าง แต่ถ้าในกรณีที่จะมอบเงินมีข้อบังคับอยู่คือ ห้ามให้แบงก์ใหม่ เพราะเหมือนเป็นทำนายเดาไว้แล้วว่าเขาจะเสียชีวิตเลยเตรียมเงินเอาไว้ แต่ถ้าเกิดใครมีแบงก์ใหม่จริงๆ แนะนำว่าให้พับครึ่งหรือพับมุมไว้ เพื่อแสดงออกว่ามีร่องรอยของการใช้งานอยู่แล้ว ซึ่งจะแตกต่างกับงานแต่งที่ควรใส่แบงก์ใหม่แทน แต่ก็ไม่ควรใส่แบงก์เก่าเกินไปเพื่อเป็นการรักษามารยาทไว้ด้วย
ห้ามจ่าหน้าซองด้วยปากกาลูกลื่น
เงินที่ใส่ในซองจดหมายปกติแล้วถ้าเป็นบ้านเราก็จะไม่ค่อยซีเรียสเรื่องการจ่าหน้าซองเท่าไร แค่เขียนไว้ว่าจากใครก็เป็นพอ แต่ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นจะห้ามใช้ปากกาลูกลื่นเขียนเด็ดขาด เพราะจะดูไม่เป็นทางการ เหมือนเขียนส่งๆ ไป ไม่ได้ตั้งใจที่จะมอบให้แต่แรก จึงนิยมใช้พู่กันหรือปากกาพู่กันเขียนแทน ด้านหน้าซองจะเขียนชื่อคนมอบ บริษัท หรือสังกัดต่างๆ และต้องมีคำว่า โกะเรเซน (御霊前) ที่แปลว่า เงินช่วยงานศพกำกับไว้อยู่ด้วย ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งแบบพุทธและแบบคริสต์
จุดธูป หรือโรยกำยาน ต้องใช้มือขวาเท่านั้น
อีกหนึ่งอย่างที่เป็นธรรมเนียมที่คนญี่ปุ่นต้องเคร่งครัดคือ การใช้มือขวาจุดธูปหรือจุดกำยาน ถ้าเป็นที่ไทยก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องซ้ายหรือขวา เพราะคนญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมปฏิบัติกันแต่โบร่ำโบราณเช่นเดียวกับการไหว้ศาลเจ้าที่ต้องมีบังคับซ้ายขวา ดังขั้นตอนต่อไปนี้
กรณีโรยกำยาน
- หลังจากทำความเคารพพระและครอบครัวผู้ตายแล้ว ให้เดินไปหน้าแท่นบูชาเพื่อเคารพรูปผู้ตาย โดยถือลูกประคำไว้มือซ้าย
- ใช้มือขวาหยิบกำยานผง ก้มศีรษะเล็กน้อย ยกกำยานผงขึ้นมาในระดับสายตาและคำนับ
- ค่อยๆ โรยกำยานผงในกระถาง 1 หรือ 3 ครั้ง หากมีคนรอเคารพศพมากจะทำครั้งเดียวก็ได้
- ยกมือไหว้รูปผู้ตายถอยหลังเล็กน้อย ทำความเคารพผู้ตาย จากนั้นกลับไปยังที่นั่ง
กรณีจุดธูป
- หลังจากทำความเคารพพระและครอบครัวผู้ตายแล้ว ให้เดินไปหน้าแท่นบูชาเพื่อเคารพรูปผู้ตาย โดยถือลูกประคำไว้มือซ้าย
- ใช้มือขวาหยิบธูปขึ้นมา 1 ดอก จุดธูปด้วยเทียน จากนั้นสะบัดธูปด้านล่างเล็กน้อย หรือใช้มือซ้ายพัดเพื่อดับไฟ
- ปักธูปลงในกระถาง โดยเว้นระยะห่างจากธูปดอกอื่นพอประมาณ บางนิกายอาจวางธูปในแนวนอน
- ยกมือไหว้รูปผู้ตายถอยหลังเล็กน้อย ทำความเคารพผู้ตาย จากนั้นกลับไปยังที่นั่ง
อาหารที่เสิร์ฟในงานศพ จะทานหรือไม่ทานก็ได้
อาหารที่เสิร์ฟในงานศพส่วนใหญ่จะเป็นข้าวกล่องเบนโตะ ซูชิ หรือแซนวิช ซึ่งจะแตกต่างกับบ้านเราที่เป็นพวกแกงต่างๆ และจัดให้นั่งเป็นโต๊ะรวมกัน แต่ถ้าเป็นของญี่ปุ่นจะจัดเป็นแถวยาว และอาหารจะเป็นสำรับของแต่ละคน เมื่อถูกเชิญให้ทานเราเลือกที่จะทานหรือไม่ทานก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียมารยาท หรือถ้าเต็มใจที่จะทานตามคำชวนจริงๆ ก็ไม่ควรทานเหลือ เพื่อเป็นการรักษามารยาทแก่เจ้าภาพที่อุตส่าห์เชิญชวนให้รับประทานอาหารภายในงานนั่นเอง
ห้ามขอดูหน้าศพเอง
ปกติในพิธีเฝ้าศพจะมีเพียงแค่ผ้าปิดหน้าศพเท่านั้น รวมถึงงานพิธีอำลาก็จะย้ายศพไปที่โลงแล้ว โดยโลงญี่ปุ่นจะมีช่องเปิดให้เห็นหน้าได้ ซึ่งโดยปกติก็ไม่มีใครอยากเห็นหน้าศพ แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของคนบางคนก็อาจจะไปขออนุญาตดูหน้า เปิดผ้าบ้าง เปิดช่องของโลงบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ถ้าทางครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่เชิญด้วยตัวเอง จึงไม่ควรไปอยากรู้อยากเห็นหน้าศพ
แม้จะเป็นฤดูหนาว ก็ไม่ควรสวมโค้ทตอนพิธีเคลื่อนศพ
หลังเสร็จพิธีศพแล้วจะปิดท้ายด้วยการนำศพเคลื่อนที่ไปเผา ไม่ว่าจะเป็นการแบกโลง หรือขับรถออกไป ซึ่งขณะออกไปส่งศพด้านนอกงานต่อให้ร่างกายจะต้องเหน็บหนาวมากแค่ไหน ก็ไม่ควรสวมโค้ทหรือเสื้อคลุมตอนกำลังประกอบพิธีเคลื่อนศพอยู่ เพราะเป็นเรื่องที่เสียมารยาทอย่างมาก เหมือนว่าเราไม่เต็มใจอยู่ร่วมด้วย พร้อมที่จะกลับบ้านเต็มทน ดังนั้น เพียงแค่อดทนรอสักนิดก็ถือเป็นเรื่องที่รักษามารยาทต่อผู้เสียชีวิตและทางครอบครัวแล้วค่ะ
ไม่ควรไปตามเส้นทางที่ศพเคลื่อน
ขณะอยู่ในพิธีส่งศพ คนแบกโลงหรือรถเคลื่อนศพจะเคลื่อนผ่านหน้าเราให้พนมมือและโค้งคำนับพร้อมนึกถึงภาวนาให้ผู้ตายไปสวดสุขคติ จนกระทั่งรถลับสายตาไปถึงจะสามารถกลับได้ และตอนจบพิธีพร้อมกลับบ้านนี้ค่อนข้างเหมือนกับของไทยด้วยความเชื่อที่ว่ารถศพเคลื่อนย้ายไปทางไหน ก็ไม่ควรกลับทางนั้น เพราะเหมือนเป็นทางที่กำหนดไว้แล้วว่าคนตายต้องผ่าน คนเป็นไม่ควรเหยียบซ้ำทับรอย เพื่อเป็นการแก้เคล็ดจึงต้องกลับเส้นทางอื่นแทน
เมื่อกลับจากงานให้ชำระล้างด้วยเกลือ
ความเชื่อของคนญี่ปุ่นคือ เกลือเป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่ช่วยชำระล้างสิ่งชั่วร้ายได้ ถ้าให้เปรียบเทียบกับของคนไทยก็คงเป็นน้ำมนต์ ด้วยเหตุนี้เวลากลับจากงานศพ คนญี่ปุ่นจะนิยมหยิบเกลือด้วยมือซ้ายแล้วโรยไปที่หลัง อก มือ ข้อเท้า นอกจากจะช่วยชำระสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากตัวแล้ว อีกทั้งยังหมายถึงการสลัดความเศร้าโศกออกไปอีกด้วย
ถ้าเจ้าภาพส่งจดหมายขอบคุณมา ไม่ต้องตอบกลับไป
หลังจบพิธีศพ เจ้าภาพจะส่งจดหมายขอบคุณพร้อมของตอบแทนมาให้ ซึ่งตรงจุดนี้จะแตกต่างกับบ้านเราที่ให้ของชำร่วยตอบแทนภายในงานอยู่แล้ว แต่ของคนญี่ปุ่นจะส่งมาทีหลัง โดยตามมารยาทแล้วเมื่อเราได้รับจดหมายมาก็ไม่ควรตอบขอบคุณกลับไป เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดทุกข์ซับซ้อนนั่นเอง
สมกับเป็นคนญี่ปุ่นที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็มีระเบียบแบบแผนที่เคร่งครัดอยู่เสมอ โดยเฉพาะงานประกอบพิธีต่างๆ คราวหน้าหากได้มีโอกาสไปงานศพญี่ปุ่นก็ไม่ต้องกลัวจะเคอะเขินอีกต่อไปแล้ว
อ้างอิง
- หนังสือรู้ไว้ก่อนใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น