ถ้าพูดถึงการเรียนสายภาษานับว่าเป็นเส้นทางที่ต้องใช้เวลาและความมานะอย่างมาก แต่ผลตอบรับที่ได้หลังจากประสบความสำเร็จในสาขานี้แล้วนับว่าคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปจริงๆ เพราะสายนี้เป็นสายที่ถ้าขยันขันแข็งล่ะก็ย่อมทำเงินให้เราได้ไม่น้อยเลยทีเดียว อีกทั้งสายภาษายังสามารถต่อยอดไปได้อีกหลายอาชีพอีกด้วย ดังนั้น วันนี้อนิไทม์จะพาทุกคนเจาะลึกกับอาชีพนักแปลฟรีแลนซ์ โดยผู้ที่จะมาแชร์ประสบการณ์นักแปลให้เราในวันนี้คือ คุณอาร์ม นักแปลอิสระที่มีผลงานแปลหลายเรื่องกับสำนักพิมพ์ฟินิกซ์จะมาเล่าให้ฟังว่า อาชีพนักแปลนี้ขึ้นชื่อว่าต้องอดหลับอดนอนจริงหรือไม่? และกว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้นั้นมีขั้นตอนกระบวนการอย่างไรบ้าง
เริ่มต้นสายอาชีพนักแปลได้อย่างไร
เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นสมัยม.6 ครับ เรียนวิทย์-คณิตมา ด้วยความตัวเองเรียนเลขแย่มาก แล้วชอบการ์ตูนเลยอยากจะเรียนภาษาญี่ปุ่นแทนครับ แล้วก็มาเรียนอักษรญี่ปุ่นต่อที่มหาลัย ช่วงใกล้จบก็เริ่มคิดแล้วว่าอยากเป็นนักแปล แต่ตอนนั้นยังไม่เคยทำอะไรเกี่ยวกับแปลเลย พอจบมาปุ๊บก็เลยส่งเมล์ไปตามสำนักพิมพ์ต่างๆ เลยว่าเขารับนักแปลไหม
พอผ่านไปประมาณเกือบเดือน ตอนนั้นเกือบถอดใจไปหางานประจำแทนแล้ว ทางฟินิกซ์ก็ติดต่อกลับมาว่ารับนักแปลอยู่ จากนั้นทางเขาก็ส่งเทสต์มาให้ทำ เป็นไลท์โนเวลครับในลิขสิทธิ์ของเขา เขาจะตัดจากบทนำสัก 5-6 หน้า แล้วก็ให้เราแปลส่งกลับไป จากนั้นก็จะมีคนคอยตรวจว่าเราแปลถูกไหม
ทำไมถึงตัดสินใจเป็นนักแปล แทนที่จะเป็นล่าม
อาจจะเป็นเพราะผมไม่ถนัดล่าม แล้วก็เราเรียนญี่ปุ่นชอบญี่ปุ่น เสพวัฒนธรรมญี่ปุนตั้งแต่การ์ตูนและนิยาย ทำให้เรารู้สึกสนุกกับมัน คิดว่าถ้าได้ทำงานตรงนี้ก็คงจะสนุกและทำให้คนอื่นสนุกเหมือนกับที่เราเป็น
งานแปลเรื่องแรกที่ได้แปลเป็นอย่างไรบ้าง
เวลาเราแปลเสร็จเขาจะส่งหนังสือฉบับที่เสร็จแล้วมาให้ด้วย พอเห็นงานของเราก็ประทับใจปลาบปลื้มเลยล่ะครับ แต่ก็เป็นงานที่มาอ่านอีกทีก็รู้สึกว่าผิดพลาดเยอะไปหน่อย เพราะเป็นภาคต่อที่เราไม่ได้อ่านภาคก่อนหน้านั้นไม่มากพอจึงทำให้สำนวนแปลไม่ค่อยปะติดปะต่อจากคนก่อนเท่าไหร่นัก หลังจากนั้นจึงระวังมากๆ ว่าถ้าจะแปลอะไรก็ต้องอ่านต้นฉบับให้เราซึมลึกเข้าไปอยู่ในเรื่องนั้นเลย และถ้ามีคนแปลมาก่อนก็ต้องอ่านเวอร์ชันแปลของคนก่อนหน้าให้กระจ่างจริงๆ
อยากให้เล่าถึงกระบวนการทำงานแปลเล่มหนึ่ง ว่าตั้งแต่เริ่มจนถึงจบเป็นอย่างไรบ้าง
หลังจากที่เทสต์ของสำนักพิมพ์จบ ก็ทำงานให้กับเขาเต็มตัว พอสำนักพิมพ์มีงานที่เห็นว่าตรงกับเรา เขาก็จะเสนองานมาให้ จะบอกเงื่อนไขและรายเอียดต่างๆ เช่น จำนวนหน้า เดธไลน์ รวมถึงค่าจ้าง หลังจากที่เราตอบตกลงไปทางสำนักพิมพ์ก็จะส่งมาให้เซ็น จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราแล้วที่ต้องทำงานให้เสร็จก่อนเดธไลน์
หลังจากวันที่เราเข้าออฟฟิศไปคุยรายละเอียดงาน จากนั้นก็ไม่ต้องเข้าสำนักพิมพ์อีกเลยครับ เพราะว่าต้นฉบับหรือสัญญาก็ส่งทางไปรษณีย์ตลอด มีอะไรก็คุยกันผ่านอีเมล์หรือไลน์ บรีฟงานออนไลน์อย่างเดียวครับ
เริ่มขั้นตอนการแปลเราก็ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นก่อน อย่างของสำนักพิมพ์ฟินิกซ์จะเป็นไลท์โนเวลซะส่วนใหญ่ และมีจำนวนเล่มเยอะ ซึ่งบางทีเราก็จะไม่ได้แปลตั้งแต่เล่มหนึ่งเลย เพราะฉะนั้นเขาจะต้องส่งเล่มเก่าให้อ่านก่อน หรือบางทีก็ภาคสปินออฟซึ่งมันจะมีข้อมูลเกี่ยวกับภาคอื่นด้วย ดังนั้นเราต้องอ่านของเล่มก่อนๆ ด้วย สำคัญมาก
มีระยะเวลาสำหรับการแปลหนังสือเล่มหนึ่งนานแค่ไหน
ถ้าปัจจุบันที่ผมทำจะเป็นสองเดือนต่อเล่ม ในตอนแรกจะเป็นเดือนครึ่ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าด้วย ถ้าเรื่องที่หนามากๆ ก็อาจจะมีเวลาเพิ่มให้ครับ เมื่อเราส่งงานไป บ.ก.ก็จะตรวจทานอีกครั้งเพื่อดูว่ามีข้อผิดพลาดอะไรหรือไม่ ถ้าเล็กๆ น้อยๆ ทางบ.ก.จะเป็นคนแก้เอง ถ้าหนักมากก็จะส่งให้เราแก้ เคยมีกรณีที่คนลืมแปลหายไปหน้าหนึ่งก็มี
ค่าตอบแทนของงานแปลเป็นอย่างไรบ้าง
บางสำนักพิมพ์จะคิดเป็นหน้า บางสำนักพิมพ์ก็จะคิดเหมาเป็นเล่ม เท่าที่ผมเคยทำ แปลไลท์โนเวลเล่มนึงก็จะได้ค่าตอบแทนประมาณ 20,000 กว่าบาท เล่มนึงก็ 200 กว่าหน้าได้ ทางสำนักพิมพ์จะตีตัวเลขมาให้แล้ว แต่ถ้าจำนวนหน้าเยอะหน่อยหรือศัพท์แปลยากก็สามารถต่อรองได้ เมื่อแปลเสร็จแล้วบ.ก.ตรวจงานเรียบร้อย ก็ไม่เกินหนึ่งเดือนเราก็ได้รับค่าจ้างเป็นเงินก้อนครับ
มองว่าอาชีพนักแปลมั่นคงดีหรือไม่
สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์หรือชื่อเสียง ช่วงแรกอาจจะลำบากเพราะว่าไม่ค่อยมีงานเพราะส่วนใหญ่คนแปลจะทำเป็นฟรีแลนซ์ ไม่ใช่เป็นงานประจำที่นั่งอยู่ในออฟฟิศ ดังนั้นเราก็ต้องสะสมผลงานระดับหนึ่งเพื่อให้สำนักพิมพ์สนใจ
ถ้าเทียบรายได้กับสายล่ามมันก็ไม่เยอะหรอก แต่ด้วยความที่เราเป็นฟรีแลนซ์เราก็มีความคล่องตัว อยากทำตอนไหนก็ได้ งานล่ามก็จะเป็นอีกสไตล์หนึ่ง แต่ยังไงก็ตาม ผมว่ามันขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์และการจัดการของแต่ละคน สำหรับผม รายได้จากงานแปลทุกวันนี้ก็ไม่ได้เยอะมากแต่ก็ไม่ได้กระเบียดกระเสียนอะไร ทุกวันนี้ไม่ค่อยอยากพูดว่าตัวเองเป็นฟรีแลนซ์ เพราะว่าเวลาพูดทีไร เราก็มักจะนึกภาพโหมงานหนัก เงินเดือนเยอะ ซึ่งสำหรับผมค่อนข้างตรงกับข้าม (หัวเราะ) มันเลยขึ้นอยู่กับแต่ละคนมากกว่าครับ
สายอาชีพนี้มีทางไปต่ออย่างไรบ้าง
ส่วนตัวผมมันก็คือการที่เราพัฒนาฝีมือขึ้น มีงานมากขึ้น เพราะนักแปลก็เป็นนักแปลไปตลอด ไม่มีตำแหน่งให้เลื่อนขึ้น แต่ในวันที่เรามีชื่อเสียงแล้วก็มีโอกาสเรียกค่าจ้างได้มากขึ้นหรือได้ส่วนแบ่งจากยอดขายที่เยอะขึ้น หรือถ้าเราชำนาญและทำงานได้เร็วขึ้น ในเวลาเท่ากันเราก็ทำงานได้มากกว่าเดิม นั่นก็หมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นเหมือนกัน หรือถ้าจะเป็นงานประจำก็อาจจะเบนสายไปเป็นบ.ก.ได้เหมือนกัน
เรื่องที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจผิดเกี่ยวกับนักแปล
ผมเรียนอักษร คนมักจะเข้าใจผิดว่าเก่งภาษาอังกฤษ (หัวเราะ) แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนจะเก่งขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเห็นปุ๊บแปลได้ทันที และการแปลนิยายมันใช้เวลาในการเรียบเรียงประโยค เกลาคำให้สละสลวย ไม่ใช่อ่านแล้วแปลสดได้เลย มันต้องใช้เวลาและความละเอียด บางทีถ้าไม่แน่ใจเราก็ต้องใช้พจนานุกรมไว้เช็กเพื่อความแน่นอน ถ้าจะให้ดีต้องใช้พจนานุกรมญี่ปุ่น-ญี่ปุ่น จะเดาสุ่มๆ เองไม่ได้
ช่วยบอกความแตกต่างระหว่างการแปลการ์ตูนและนิยาย
การ์ตูนน่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องช่อง อย่างนิยายจะสามารถเก็บรายละเอียดคำขยายต่างๆ ได้ แต่ในการ์ตูนมีข้อจำกัดตัดคำออกไป ในทางกลับกันนิยายก็ต้องมีการพรรณาเหตุการณ์ ความรู้สึก คำพูดออกไปอีก การ์ตูนจะเป็นบทสนทนาอย่างเดียว บางเรื่องก็อาจจะมีบรรยายบ้างแต่อาจจะไม่เยอะ อีกอย่างที่ผมว่ายากคือ ซาวน์เอฟเฟ็กต่างๆ โดยส่วนตัวปัญหานี้น่าจะเป็นปัญหาสำหรับการแปลการ์ตูน นิยายก็มีแต่จะไม่เยอะเท่าการ์ตูน ถ้าคำไหนไม่รู้ก็จะเสิชหาจากอินเทอร์เน็ตเอา
เคยมีจุดไหนที่ยากจนทำให้รู้สึกไม่อยากทำต่อบ้างไหม
ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องคำศัพท์ที่หาคำแปลยาก ก็มีบางรูปประโยคที่ไม่เคยเจอหรือเป็นศัพท์เฉพาะทาง ด้วยความที่เป็นไลท์โนเวล มันก็จะมีอะไรที่เป็นการจิตนาการหรือเป็นไซไฟ วิทยาศาสตร์ล้ำๆ ที่เราหาข้อมูลแล้วไม่เจอ เราก็ต้องใช้จินตนาการนึกขึ้นมานิดนึงว่าคำที่เขาเขียนมันสื่อถึงอะไร หรือไม่ก็บางเรื่องที่เป็นแฟนตาซีตำนานเทพ ชื่อประเทศที่มีจริงๆ เราก็ต้องไปหาข้อมูลมาว่ามีคำที่เขาใช้กันจริงๆ หรือเปล่า อีกอย่างหนึ่งที่ยากคือคนญี่ปุ่นชอบเล่นเบสบอล แต่คนไทยไม่ได้เล่น พอมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเบสบอลก็ต้องศึกษากติกาและแปลอธิบายให้คนไทยได้เข้าใจ
งานแปลมีสเน่ห์อะไรที่ทำให้เราเลือกที่จะยืนอยู่ตรงนี้
ผมว่างานแปลเป็นงานที่สนุกนะ คือเราเป็นคนที่เสพงานทางด้านนี้อยู่แล้ว เราก็สนุกกับการอ่าน แล้วพอมาแปลเองก็เป็นความรู้สึกที่อยากส่งต่อให้คนอ่านได้สนุกเหมือนเรา และการแปลก็เหมือนกับเป็นการได้พัฒนาตัวเองตลอด อย่างผมเริ่มจากการไม่มีประสบการณ์กับการแปลเลย ทุกๆ หน้า ทุกประโยคจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเจอ สนุกกับการคิดรูปประโยคภาษาไทย เวลาแปลก็ดูความสัมพันธ์กันของแต่ละประโยค ทำให้เป็นงานที่สนุกและไม่น่าเบื่อ
การจะประสบความสำเร็จในอาชีพใดอาชีพหนึ่งนั้น นอกจากจะต้องมีความรู้ที่แน่นแล้วก็ต้องมีความขยันและกระตือรืนร้น แต่ว่าก็ต้องแลกด้วยการห้ามป่วย ห้ามพัก เวลาหลับเวลานอน แต่เมื่องานสำเร็จไปด้วยดีผลลัพธ์ที่ได้ก็ต้องดีตามอย่างแน่นอน สำหรับใครที่สนใจจะเดินทางสายอาชีพนี้ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นแรงบันดาลให้กับทุกคนที่มีความฝันจะเป็นนักแปลกันนะคะ