sonta vista adora
arta ivia santia dota
asore dito firia sorta mia
sore dite mi visti ona
ola
เนื้อเพลงด้านบนนี้มองดูเผินๆ แล้วดูคล้ายกับคำอ่านภาษาอิตาลี ฝรั่งเศส ไม่ก็สเปน แต่ถ้าได้ลองทำความรู้จักกับผู้ที่เขียนเนื้อเพลงนี้ออกมา คุณจะรู้ว่าประโยคทั้งหมดนี้ไม่มีความหมายในภาษาใดเลยแม้แต่น้อย
ถึงจะไม่มีความหมายแต่เราจะเรียกคำเหล่านี้ว่า Kajiurago แปลได้ว่า ภาษาคาจิอุระ มาจากชื่อของคุณ คาจิอุระ ยูกิ โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง ผู้สร้างเพลงอนิซองอันไพเราะติดหูให้กับอนิเมะหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ไม-ฮิเมะ ศึกศาสตราเจ้าหญิงแห่งดวงดาว ไม-โอโตเมะ ศึกอัญมณีสาวน้อยแห่งดวงดาว สึบาสะ สงครามเทพข้ามมิติ ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ สาวน้อยเวทมนตร์ มาโดกะ Sword Art Online คนลึกไขปริศนาลับและอื่นๆ อีกมากมาย
รู้จักกับ คาจิอุระ ยูกิ
คาจิอุระ ยูกิ เกิดวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ที่ญี่ปุ่น ก่อนจะย้ายตามคุณพ่อไปอยู่ที่เยอรมนีตั้งแต่ปี 2515 พ่อของคุณคาจิอุระ ยูกิชื่นชอบดนตรีคลาสสิกและโอเปร่ามากจึงทำให้เธอซึมซับความชอบนี้ไปด้วย
ผลงานเพลงชิ้นแรกของเธอถูกแต่งขึ้นในวัยเจ็ดขวบคือบทเพลงอำลาคุณย่า เพราะต้องย้ายไปอยู่ที่เยอรมันกับคุณพ่อ ส่วนคุณย่าท่านจะอยู่ที่ญี่ปุ่นต่อ
ต่อมาคุณคาจิอุระได้ย้ายกลับมาญี่ปุ่นในช่วงมัธยมต้น แต่ก็ไม่ได้จับงานเพลงเลยในตลอดช่วงชีวิตวัยรุ่น หลังจากจบมหาวิทยาลัยก็ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์
จนกระทั่งปี 2535 เธอก็เริ่มหันมาสนใจงานด้านดนตรีมากขึ้น โดยรวมตัวกับอิชิคาวะ จิอากิ (ร้องนำ) และนิชิโอกะ ยูกิโกะ เดบิวท์ภายใต้ชื่อวงว่า See-Saw ร้องเพลงประกอบให้กับอนิเมะมากมาย
ที่เราคุ้นหูกันมากที่สุดก็คงจะเป็นเพลง OP และ ED ของ Mobile Suit Gundam SEED ภายในสองปี ทั้งสามคนได้ออกซิงเกิล 6 ซิงเกิล และอัลบั้ม 2 อัลบั้ม ทว่าในปี 2538 พวกเธอก็แยกทางกันทำงาน
คุณคาจิอุระยังคงทำงานด้านดนตรีต่อไป โดยประพันธ์เพลงให้กับศิลปินจำนวนมากและทำงานกำกับเสียงให้กับรายการโทรทัศน์ โฆษณา ภาพยนตร์ เกม และอนิเมะ
ในปี 2544 คาจิอุระและอิชิคาวะได้รวมตัวกันในนาม See-Saw อีกครั้งหนึ่ง ในขณะนั้นเธอกำลังทำเพลงประกอบอนิเมะเรื่อง Noir ให้กับสตูดิโอ Bee Train ของโคอิจิ มาชิโมะ ซึ่งซาวด์แทรกของอนิเมะเรื่องนี้เป็นที่ชื่นชมอย่างมาก
คาจิอุระมีความสุขกับการทำงานได้อย่างอิสระที่มาชิโมะมอบให้ พวกเขาจึงได้ทำงานร่วมกันอีกมากมาย เพราะมาชิโมะไม่เคยตั้งขีดกำจัดในการประพันธ์เพลงเลย
โปรเจกต์อีกอย่างหนึ่งของคาจิอุระคือ Fictionjunction เป็นการร่วมงานกับศิลปินต่างๆ เช่น นันริ ยูกะ คาโต อาซุกะ วาคานะ ไคดะ ยูริโกะ เคย์โกะ และคาโอริ
นอกจากนี้ เธอยังมีโปรเจกต์ Kalafina ที่ตั้งขึ้นมาในปี 2550 เพื่อใช้ทำเพลงประกอบอนิเมะฉบับภาพยนตร์ Kara no Kyokai โดยมี วาคานะและเคโกะ 2 นักร้องจาก Fictionjunction เป็นตัวหลัก และได้คัดเลือกนักร้องเพิ่มเพียง 2 คนจาก 30,000 คน ให้มาเข้าร่วมใน Kalafina ซึ่ง 2 ศิลปินที่ว่าคือมายะและฮิคารุ ก่อนที่มายะจะลาออกจากวงในสองปีถัดมา แต่ปัจจุบัน Kalafina ได้ประกาศแยกวงแล้วหลังจากร่วมงานกันมายาวนานถึงสิบปี
ทำไมต้องใช้ Kajiurago?
ถ้าใครติดตามผลงานการทำเพลงของคุณคาจิอุระ จะเห็นว่าเธอร่วมงานกับศิลปินต่างชาติค่อนข้างมาก ภาษาที่เธอใช้ในการทำเพลงนั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ อิตาลี แม้กระทั่งลาติน บางเพลงอาจจะมีภาษามากกว่าสองภาษาในหนึ่งเพลงเลยด้วยซ้ำ
แต่เธอกลับมีความรู้สึกว่าเมื่อภาษามีความหมาย ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจถึงความหมายได้ในแต่ละภาษาได้ คนต่างชาติก็จะไม่เข้าใจเนื้อเพลงภาษาญี่ปุ่น หรือหากใช้ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลางในการสื่อสาร ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจภาษาอังกฤษ
เธออยากจะสร้างภาษาขึ้นมาโดยที่ภาษานั้นจะต้องไม่ผูกกับความหมายใดๆ เพื่อให้ทุกคนที่ได้ฟังมีอิสระในการจินตนาการความรู้สึกของอารมณ์เพลงโดยไม่ต้องสนใจว่า ‘เมื่อฉันรู้สึกแบบนี้ สิ่งที่ฉันรู้สึกนั้นตรงกับความหมายของเพลงหรือไม่’ ผู้ฟังสามารถปลดปล่อยจินตนาการของตัวเองไปกับเสียงเพลงได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีกำแพงภาษามาขวางกั้น
อีกทั้งเมื่อภาษาไม่มีความหมาย นักร้องของเธอจึงมีอิสระในการออกเสียง สามารถเลือกออกเสียงที่เหมาะสมกับท่อนร้องนั้นๆ ได้ อย่างเช่น เสียง mi อาจจะออกว่า มี หรือ ไม ก็ได้ เสียง a จะออกเสียงว่า เอ หรือ อา ก็ได้เพราะอย่างไรเสีย จะออกเสียงแบบไหนก็ไม่กระทบกับความหมายของคำ
นอกจากนี้ Kajiurago ยังมีความสะดวกอีกอย่างคือ เวลาที่ทำเพลง บ่อยครั้งเธอมักจะนำดนตรีเดิมไปใส่ในฉากหลายๆ ฉาก ทำให้เพลงที่มีความหมายอาจจะไม่สามารถเข้ากันได้กับฉากอื่นๆ
ทุกบทเพลงมักจะมีเอกลักษณ์บางอย่างที่เหมือนกับลายเซ็นของผู้ทำเพลงแฝงอยู่ภายใน เพียงแค่ได้ยินแวบแรกก็สามารถเดาได้ว่าเป็นผลงานของท่านใด สำหรับคุณคาจิอุระ นอกจากแนวดนตรีที่มีความเฉพาะตัวแล้ว Kajiurago ก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์เพลงของเธอที่ใครได้ยินแล้วก็ต้องร้องอ๋อแน่นอน
สุดยอดไปเลยใช่ไหมล่ะคะ
ที่มา