บางครั้งการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป การที่เราได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ ฟังเพลงเพลงใหม่หรือกระทั่งการดู อนิเมะเรื่องใหม่ ก็ตาม มันจะทำให้เราได้พบพานกับเรื่องราวที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีเวลาที่มากพอสำหรับการเปิดรับสิ่งใหม่ขนาดนั้น ทำให้บางคนเลือกดู 2-3 ตอนแรกก็พอจะเก็ทแล้วว่าควรไปต่อหรือหยุดดูเลยดีกว่า
ดูแค่นี้ก็รู้แล้วหรือว่าสนุกหรือห่วย?
มันมีหลักการของมันอยู่ แต่ก็ไม่ได้ใช้กับทุกสถานการณ์นะ โดยวันนี้เราจึงจะมาพูดถึงหลักการเลือกดูอนิเมะเรื่องใหม่สำหรับประกอบการตัดสินใจที่เรียกกันว่า 3 episode rule และเนื้อหาอนิเมะที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นอาจมีการ สปอยจุดสำคัญ ในบางเรื่องโปรดพึงระวังด้วยนะ
แล้วทำไมถึงต้องเป็นตอนที่สาม?
สาเหตุที่ต้องดูอนิเมะจนถึงตอนที่สามนั้น เพราะว่าในหมู่คนดูอนิเมะจะมีสิ่งที่เรียกว่า 3 episode rule อยู่ หรือก็คือการที่ให้เวลาดู 3 ตอนก่อนแล้วค่อยตัดสินว่าจะดูต่อหรือจะดรอป เพราะอนิเมะหลายๆ เรื่องมักจะใส่จุดพีคของเนื้อเรื่องในช่วงสามตอนแรกเพื่อสร้างแรงดึงดูดให้ผู้คนดูต่อ แต่มันก็ไม่ได้เป็นหลักการที่เป็นสากลอะไรมากนัก หากเทียบกับไทยเราก็คงคล้ายกับหลัก อาหารตกพื้นไม่เกินสามวินาที จะปลอดภัยและกินต่อได้ประมาณนั้น
โดยเฉลี่ยแล้วอนิเมะ 1 cour นั้นจะมีจำนวนตอนทั้งหมด 12 ตอน ซึ่งสามตอนแรกก็คือ 1 ใน 4 ของเนื้อหาทั้งหมดที่เพียงพอให้เรานั้นเกิดความรู้สึกที่ว่ามันคุ้มค่าที่จะดูต่อหรือไม่ ส่วนใหญ่ ตอนที่หนึ่ง จะสร้างความประทับใจแรกและแนะนำตัวละครให้คนดูรู้จัก ตอนที่สอง จะให้เวลาคนดูคุ้นเคยกับบทบาทของตัวละครและเริ่มผูกเรื่องราว และ ตอนที่สาม นั้นหลังจากคนดูเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้วก็จะเริ่มต้นเนื้อเรื่องแบบจริงๆ จังๆ แบบใส่จุดหักมุมหรือความดรามาเพื่อกำหนดเส้นทางของตอนต่อไป
แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถใช้ได้กับอนิเมะทุกเรื่อง เพราะบางเรื่องนั้นก็มีทุนสร้างจำนวนหลาย cour ทำให้มีจำนวนตอนที่มากกว่า 12 ตอน ซึ่งแน่นอนว่าด้วยจำนวนตอนที่มากขึ้น การที่จะนำจุดหักมุมเพื่อดึงดูดผู้ชมในระยะยาวนั้นอาจจะไม่ได้ใส่ในช่วงต้นอย่างสามตอนแรก แต่อาจจะนำไปใส่ตรงกลางเนื้อเรื่องแทนและแม้จะใส่ในตอนที่สามก็ใช่ว่าจะประสบผลสำเร็จเสมอไป
มันมีที่มาจากเทคนิคการเขียนที่เรียกว่า Rule of Three
Rule of Three มีที่มาจากหลักการเขียนเรื่องตลก ด้วยการเล่าเรื่องปกติก่อน 2 เรื่องหรือสองตอนเพื่อบิวต์อารมณ์แล้วค่อยหักมุมเอาตอนที่ 3 โดยเป็นรูปแบบที่ใช้ในมุกตลกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำสามครั้งด้วยการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ซึ่งสองครั้งแรกสร้างความตึงเครียดและครั้งที่สามก็ทำการฉีกแนวไปเลย
ยกตัวอย่างก็เช่นนิทานเรื่อง โกลดิล็อก หนูน้อยผมทองกับหมี 3 ตัว ที่หมีสองตัวแรกจะพูดคำพูดในทำนองที่คล้ายกัน แต่หมีตัวที่สามนั้นจะมีการตอบสนองที่ฉีกแนวออกไปอย่างสิ้นเชิงเพื่อเป็นจุดเด่นของเรื่องเป็นต้น
รากฐานของหลักการเขียนนี้นั้นมาจาก Rule of thirds ในงานศิลปะอีกที โดยว่าด้วยการเปลี่ยนเอาสิ่งที่เราต้องการให้คนดูเกิดความสนใจจากตรงกลางตามปกติไปเป็นเอาไปไว้ในส่วนที่ 3 ของภาพจะเรียกความสนใจที่มากกว่า
จึงอาจพูดได้ว่ากฎสามข้อจำพวกนี้อาจเป็นประเภทย่อยของปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาทั่วไป คือจุดเริ่มต้น ช่วงกลางและตอนท้าย องค์ประกอบสามอย่างนั้นถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในวาทศาสตร์การเขียนและตำนานอย่างมากมาย จนในที่สุดก็กลายเป็นหลักการที่ถูกนำไปต่อยอดได้อีกหลากหลาย
กระทั่งในอนิเมะก็เคยถูกกล่าวถึง
หลังจากใช้ 3 episode rule กันอย่างแพร่หลายก็ได้ทำให้เกิดกระแสพูดคุยโต้ตอบกันอย่างสนุกสนานในต่างประเทศ ส่วนญี่ปุ่นนั้นไม่เพียงแต่พูดคุยกันในหมู่ผู้ดูอนิเมะแต่ผู้ผลิตถึงกับใส่ลงมาในอนิเมะเพื่อแขวะวงการตัวเองเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น
Saenai Heroine Sodatekata การพูดคุยของทั้งสองคนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอนิเมะ โดยเป็นการถกเถียงกันระหว่าง อุตะฮะ กับ เอริ เรื่องที่อนิเมะนั้นมีเซอร์วิสที่มากเกินไปจะทำให้แย่เอา
‘ถ้าเป็นแบบอนิเมะฮาเร็มล่ะก็ แค่สามตอนฉันก็เลิกดูแล้ว’
‘นี่ไม่ใช่อนิเมะกระจอกนะ ผู้สร้างเขาให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นจนจบไม่มีเผาแน่นอน’
หรือในอนิเมะเรื่อง Purupurun Sharumu to Asobou ที่มีฉากพูดถึงกันแบบโต้งๆ เกี่ยวสามตอนแรกของอนิเมะกันเลยทีเดียว
‘สามตอนแรกของอนิเมะนั้นมันสำคัญมากจริงๆ นะ’
จุดเริ่มต้นของกระแสอาถรรพ์ตอนสามอันโด่งดัง
แน่นอนว่า 3 episode rule นั้นในบ้านเราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า อาถรรพ์ตอนสาม กันมากกว่า จากการที่อนิเมะช่วงหลังมักชอบใส่ฉากอิมแพคแรงๆ ลงในตอนที่สามเพื่อสร้างกระแสและกระตุ้นให้คนดูสนใจดูต่อ เช่นฉากที่ตัวละครสำคัญตายหรือเรื่องราวที่หักมุม ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายไปถึงฉากเด่นๆ หรือฉากที่สร้างความประทับใจภายในเรื่องอีกด้วย แต่ฉากที่ทำให้ทุกคนจำได้ติดตาจนเกิดการพูดคุยกันจนเป็นกระแสโด่งดังกันอยู่พักหนึ่งก็คือตอนที่สามของเรื่อง
สาวน้อยเวทมนตร์ มาโดกะ
เป็นเรื่องของสาวน้อยเวทมนตร์ที่มีภาพสุดแสนน่ารัก ในสองตอนแรกก็ไม่ได้มีอะไรที่หวือหวามากนัก เรียกได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จของสาวน้อยเวทมนตร์ที่ต้องสู้กับศัตรูที่เรียกว่า แม่มด เพื่อปกป้องความสงบสุขของมนุษย์ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้โด่งดังก็คงเป็นตอนที่สาม ตอนที่ โทโมเอะ มามิ กำลังสู้กับศัตรูในฐานะสาวน้อยเวทมนตร์เช่นเคย แต่มันก็ดันต่างจากที่เคยก็ตรงเธอประมาทจนโดนแม่มด กัดหัวขาด ห้อยเคว้งคว้างจนไม่เหมือนอนิเมะสาวน้อยเวทมนตร์สุดสดใสเหมือนตอนแรก
ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้คนที่ดูไปถึงตอนที่สามได้รู้พล็อตเรื่องจริงๆ ของเรื่องนี้ที่ต้องการนำเสนอ ส่วนคนที่เลิกดูไปตั้งแต่ตอนแรกก็ต้องย้อนกลับมาดูต่อเพราะกระแสหักมุมอันโด่งดัง ซึ่งหลังจากนั้นก็มีอนิเมะอีกหลายเรื่องที่นำจุดพีคมาใส่ในตอนที่สามเหมือนกับเรื่อง สาวน้อยเวทมนตร์ มาโดกะ จนกลายเป็นคำที่เรียกว่าอาถรรพ์ตอนสามไปในที่สุด ทั้งๆ ที่มันมีมาตั้งนานแล้วแต่พึ่งมาดังเอากับเรื่องนี้ หลายคนเวลาคัดเลือกเรื่องใหม่จึงดูไปจนถึงตอนที่สามเพื่อไม่ให้พลาดอะไรที่สำคัญไปก่อนตัดสินใจว่าจะดูต่อหรือว่าจะดรอป
ตัวอย่างอนิเมะที่มีตอนสามเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องราว
แองเจิลบีทส์
ตอนที่สามเป็นตอนที่ อิวาซาวะ มาซามิ ผู้เป็นนักร้องนำในวง Girls Dead Monster ได้เปิดเผยอดีตอันแสนเลวร้ายสุดดรามาที่เรียกน้ำตาคนดู และสุดท้ายเธอก็ได้ร้องเพลงสุดท้ายที่เป็นความปรารถนาของเธออย่างสุดกำลังจนหมดห่วงหายตัวไปในที่สุด
Kantai Collection
ตอนที่สามเป็นตอนที่ คิซารากิ ออกไปรบแล้วโดนข้าศึกปล่อยจรวดใส่จนจมทะเล ซึ่งสองตอนแรกได้บิวต์ความสัมพันธ์ของเธอระหว่าง มุทสึกิ ที่เป็นเพื่อนคอยรอการกลับมาของเธออยู่ ทั้งๆ สู้แต่ละครั้งจะจบที่บาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่เคยมีใครจมเหมือนครั้งนี้
อนาเธอร์
ตอนที่สามเป็นตอนที่มีผู้เสียชีวิตแบบคาตาคนแรกหลังปูเรื่องคำสาปของชั้น ม.3/3 มาในสองตอนแรก ซึ่งฉากที่พีคมากคือการที่ ซากุรางิ ยูคาริ สะดุดล้มตรงบันไดพร้อมกับร่มของเธอ จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุน่าเศร้าอย่าง ร่มปักคอทะลุ จนเสียชีวิต
ซังกะ เรอา
ตอนที่สามเป็นตอนที่ เรอา โดนพ่อของเธอทำร้ายร่างกายจนพลัด ตกหน้าผาตาย เรียกได้ว่าก่อนตกถึงพื้นยังโดนกิ่งไม้เฉี่ยวไส้ทะลักอีกต่างหาก ยังดีที่เธอดื่มยาชุบชีวิตที่สกัดมาจากดอกไฮเดรนเยียที่พระเอกทำขึ้น จึงทำให้เธอลุกขึ้นมาเป็นซอมบี้ในที่สุด
มายฮีโร่ อคาเดเมีย
ตอนที่สามเป็นตอนที่ มิโดริยะ อิซึคุ ได้รับอัตลักษณ์จาก ออลไมท์ หลังจากที่ปูทางมาให้เห็นถึงความพยายามของพระเอกมาตั้งแต่ต้น จนในตอนนี้ที่เขาได้ผ่านการทดสอบของออลไมท์เอาตอนช่วงเวลาสุดท้ายและได้เริ่มต้นเรื่องราวของการเป็นฮีโร่ของเขา
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 3 episode rule เราคงได้เห็นข้อดีของการตามดูมาได้ถึงตอนที่สามกันแล้วจากตัวอย่าง เพราะหากเราตัดสินว่าไม่ใช่แนวและหยุดตามตั้งแต่ตอนแรกมันจะทำให้เราพลาดโอกาสได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลอยู่ดีเพราะบางคนก็ไม่ได้ใช้วิธีนี้แต่ใช้วิธีอื่น และบางเรื่องตอนที่สามก็ไม่ได้สร้างความประทับใจอะไรมากนัก สุดท้ายจึงได้เป็นการให้คำแนะนำเพียงเท่านั้น