คุณผู้อ่านรู้จักชายที่ชื่อ ‘ฮิราอิ ทาโร‘ หรือเปล่าคะ? ถ้าไม่คุ้น นามปากกาของเขา ‘เอโดงาวะ รัมโป’ คงทำให้ผู้อ่านร้องอ๋อแน่ๆ เพราะชื่อนี้คือที่มาของชื่อ เอโดงาวะ โคนัน เจ้าหนูนักสืบมรณะ กับเป็นต้นแบบของตัวละครชื่อเดียวกันในเรื่องคณะประพันธกรจรจัดอีกด้วย ภาพของโคนันและการ์ตูนแนวสืบสวนสอบสวนอีกมากมายคงไม่เหมือนกับที่เราเห็นอย่างแน่นอนหากปราศจากชายผู้เปิดโลกแห่งวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นท่านนี้ค่ะ
ชายผู้เสพติดวรรณกรรมสืบสวน
อ.ฮิราอิ ทาโร ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1894 ในจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ในยุคนั้นสังคมเมืองเริ่มเจริญขึ้นและถือเป็นยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังบานสะพรั่งขนาดมีหนังสือพิมพ์หัวใหม่กำเนิดขึ้นมากมาย สิ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือนวนิยายที่ลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกระดับ อ.ทาโรมักขอให้แม่อ่านนิยายในหนังสือพิมพ์ให้ฟังอยู่เสมอ สะท้อนให้เห็นว่าเขามีความสนใจในด้านวรรณกรรมตั้งแต่ยังเล็ก
ในปี 1912 ขณะที่อ.ทาโรเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ เขาติดใจนวนิยายเรื่อง รหัสลับแมลงหัวกะโหลก (The Gold Bug) เป็นอย่างยิ่ง นิยายเรื่องนี้เขียนโดยอ.เอดการ์ แอลลัน โพ ซึ่งเป็นนักเขียนนิยายสืบสวนชื่อดังชาวอเมริกัน และเป็นนิยายสืบสวนเรื่องแรกของโลกที่มีการใส่รหัสลับลงในเนื้อเรื่องซึ่งชวนให้ลุ้นระทึกและน่าติดตาม ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อ.ทาโร่สนใจเขียนนิยายสืบสวนให้ได้แบบนักเขียนต่างชาติบ้าง
แม้วรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนจะไม่ใช่ของใหม่ในประเทศญี่ปุ่น แต่ในยุคที่อ.ทาโร่ยังไม่ได้เป็นนักเขียน ในท้องตลาดยังมีแต่นิยายแปลของนักเขียนชาวต่างชาติและยังไม่มีผลงานของชาวญี่ปุ่นแม้แต่น้อย แม้กระทั่งนิตยสารชินเซเน็นที่ถือกำเนิดในปี 1922 ในฐานะนิตยสารรวมนวนิยายสืบสวนก็มีแต่นิยายแปล แต่นิตยสารหัวนี้เองก็ทำให้อ.ทาโร่ได้เห็นช่องทางของการแจ้งเกิดผลงานนิยายสืบสวนของเขาที่เขาคิดไว้มานาน ในปี 1923 เขาในวัย 27 ปีได้เขียนเรื่องสั้นเรื่อง นิเซ็นโดกะ (เหรียญสองเซ็น) ลงในนิตยสารนี้ โดยใช้นามปากกา เอโดงาวะ รัมโป เป็นครั้งแรก ที่มาของนามปากกานี้ก็ไม่ใด้มาจากใครที่ไหนไกล หากแต่เลียนเสียงจากชื่อของอ.เอดการ์ แอลลัน โพ นักเขียนในดวงใจของเขานั่นเอง

ผลงานเปิดตัวของเขาได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะมีเนื้อเรื่องที่น่าตื่นเต้นและชวนให้ผู้อ่านขบคิดไขปริศนาไปพร้อมกัน และอ.รัมโปก็ยิ่งดังระเบิดขึ้นไปอีกเมื่อเขาได้เขียน คดีฆาตกรรมบนเนิน D ในสองปีต่อมา ในผลงานเรื่องนี้ได้กำเนิดตัวละคร อาเคจิ โคโกโร่ ชายหนุ่มลึกลับที่มีบุคลิกประหลาด สนใจใคร่รู้ในเรื่องปริศนาและที่ห้องพักมีแต่หนังสือกองสูงท่วมศีรษะจนไม่เหลือที่นอน และนักสืบอาเคจิคนนี้ได้กลายเป็นพระเอกแห่งวงการวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นและคงมีบทบาทในสื่อยุคหลังเป็นต้นมา
อิทธิพลต่อวงการการ์ตูน
แม้อ.รัมโปจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1965 แต่ตัวเขาและผลงานของเขายังคงทรงอิทธิพลจวบจนถึงปัจจุบัน ในแวดวงการ์ตูนก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเขาไม่น้อย ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่น
- ยอดนักสืบคินดะอิจิ โคสุเกะ นวนิยายซึ่งเขียนโดยอ.โยโคมิโซะ เซชิ (1902-1981) ซึ่งเดิมทีตั้งใจจะสืบทอดกิจการร้าน
’เอโดงาวะ รัมโป’ ในคณะประพันธกรจรจัด ขายยาของครอบครัวหลังเรียนจบ แต่ก็ได้รับการชักชวนจากอ.รัมโปให้เข้าวงการวรรณกรรม เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสารอยู่พักหนึ่งก่อนผันตัวมาเป็นนักเขียนนิยายด้วยตนเอง ผลงานของเขาได้กลายเป็นต้นฉบับของการ์ตูนเรื่องคินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา ในยุคต่อมา
- ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เป็นที่มาของชื่อเอโดงาวะ โคนัน (ตามนามปากกาของอ.เอโดงาวะ รัมโป) โมริ โคโกโร่ (ตามชื่อตัวละครหลัก อาเคจิ โคโกโร่) และชมรมนักสืบเยาวชน (ตามเรื่อง ขบวนการนักสืบรุ่นจิ๋ว ซึ่งเป็นซีรีส์นิยายในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา)
- คณะประพันธกรจรจัด เป็นต้นแบบของหนึ่งในตัวละครหลักที่อ้างอิงจากนักเขียนวรรณกรรมยุคคลาสสิกของญี่ปุ่นหลายท่าน
- Ranpo Kitan: Game of Laplace อนิเมะซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรำลึกครบรอบ 50 ปี การจากไปของ เอโดงาวะ รัมโป มีคอนเซ็ปต์การไขปริศนาให้เหมือนการเล่นเกม
- Trickster – Edogawa Ranpo ‘Shounen Tantei-dan’ Yori อนิเมะซึ่งสร้างขึ้นในปี 2016 โดยอิงจากผลงานเรื่องขบวนการนักสืบรุ่นจิ๋วของอ.รัมโป
- Persona 5 อนิเมะที่สร้างจากเกมเนื้อหาแน่นเอี๊ยด มีตัวละครชื่อ อาเคจิ โกโร ชื่อไม่เหมือนต้นฉบับร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมการสืบสวนในเรื่องก็ไม่ใช่ของจริง แต่เป็นเพียงแค่การลวงหลอกตบตา ซ้ำคนก่อคดียังคือตัวเขาเอง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป้าหมายที่จะสังหารอื่น
เรื่องราวแห่งความลึกลับหลากมิติ
สำนวนในงานเขียนของอ.รัมโปหาได้มีความนุ่มลึกหรือสละสลวยมากนัก หากแต่เล่าด้วยภาษาพูดอย่างตรงไปตรงมาเหมือนมีโฆษกมาค่อยพูดให้ฟังเสียมากกว่า กระนั้นแล้วงานของอ.ก็มีสเน่ห์ตรงที่สามารถชักชวนและดึงดูดให้ผู้อ่านได้มีส่วนร่วมและคิดตามด้วย อาจารย์มักหยอดประโยคทำนองว่า “คุณผู้อ่านพอเดาได้แล้วหรือยังครับว่าคนร้ายน่าจะเป็นใคร” หรือ “คุณผู้อ่านที่ไหวพริบดีคงเข้าใจแล้วว่าทำไมเขาจึงคิดเช่นนั้น” ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนอาจารย์ยังคงนั่งเล่าเรื่องอยู่ข้างๆ เราอยู่เสมอ
สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดในผลงานของอ.รัมโปเห็นจะเป็นวิกลจริตและความพิสดารที่สะท้อนถึงด้านมืดของมนุษย์ นิยายของเขาจะไม่ค่อยเน้นวิธีการฆ่าที่รุนแรงซึ่งหน้า ไม่ใช้อาวุธที่มีเทคโนโลยีสูงหรือประดิษฐ์คิดค้นอย่างซับซ้อน ไม่มีการต่อสู้บู๊ล้างผลาญระหว่างตัวเอกกับตัวร้ายเฉกเช่นนิยายฝรั่ง หากแต่เน้นไปที่จิตนึกคิดและรางจูงใจของผู้กระทำ ความหลอนประสาท และท่าทีการแสดงออกที่ประหลาดไปจากคนปกติ บางครั้งก็แฝงกามารมณ์อยู่ไม่น้อย

เช่นในเรื่อง นักเดินเล่นใต้หลังคา ตัวเอกเป็นคนขี้เบื่อแล้วไปพบกับความจำเริญใจคือการขึ้นไปเดินบนฝ้าเพดานซึ่งเชื่อมต่อกับทุกห้องในหอพักเดียวกัน เขาเฝ้าสังเกตชีวิตคนสารพัดรูปแบบ รวมถึงคนที่ซื้อบริการโสเภณีมาร่วมเพศที่ห้องไม่เว้นวัน (เฉพาะประเด็นนี้ถึงขั้นมีการไปสร้างภาพยนตร์ติดเรตได้เต็มๆ 1 เรื่อง) จนเกิดความคิดพิสดารอยากฆ่าคนจากเพดาน และในเรื่องเดียวนี้ คนร้ายก็มีการเชยชมความงามของสรีระของเหยื่อที่จะฆ่า ชมโครงหน้า ชมริมฝีปาก แม้จะเป็นเพศชายเหมือนกับตนก็ตาม
สิ่งนี้ได้กลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญที่แฝงอยู่ในทุกวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นและผิดแผกไปจากวรรณกรรมของตะวันตกอย่างเห็นได้ชัด หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตกตะลึงกับวิธีการฆ่าในแต่ละคดีของคินดะอิจิ หรือหดหู่กับมูลเหตุจูงใจของคนร้ายในโคนัน แสดงว่าคุณกำลังได้รับอิทธิพลของอ.เอโดงาวะ รัมโป คนนี้นี่แหละค่ะ