การไม่ตรงต่อเวลาหรือการมาสายของประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นเรื่องที่รุนแรงมากในสังคมญี่ปุ่น การนัดเจอกับคนญี่ปุ่นต้องห้ามสายเด็ดขาด เพราะคนญี่ปุ่นเคร่งครัดและตรงต่อเวลา เปรียบเทียบจากเวลาที่ดูอนิเมะบนทีวีหรืออ่านการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกิดขึ้นในโรงเรียน (แนวคอมเมดี้ส่วนใหญ่) ก็มักจะมีเหตุการณ์ที่ตัวเอกของเรื่อง ตื่นสาย รีบวิ่งออกมาจากบ้าน พร้อมกับคาบขนมปัง 1 แผ่น วิ่งตรงไปที่โรงเรียน แล้วพูดว่า “สายแล้ว สายแล้ว”
เรามายกตัวอย่างตัวละครที่มาสายในอนิเมะกันดีกว่า ว่ามีใครจำเหตการณ์พวกนี้ได้บ้าง
อนิเมะเรื่อง เซเลอร์มูน : สึคิโนะ อุซางิ ตัวละครที่พูด ‘สายแล้ว สายแล้ว’ บ่อยที่สุดเลยก็ว่าได้ แม้ปกติแล้วอุซางิจะเป็นเด็กซุ่มซ่าม ขี้แย ผลการเรียนไม่เอาไหน กีฬาก็ไม่เก่งแต่เธอก็เป็นคนร่าเริงแจ่มใส จริงใจและรักเพื่อนมาก
โดราเอมอน : โนบิ โนบิตะ เป็นตัวละครที่ทุกคนต่างรู้จักกันดี มีนิสัยขี้แย เป็นคนไม่เอาถ่าน อ่อนแอ ไม่เคยพึ่งพาตนเอง เรียนหนังสือไม่เก่ง สอบได้ 0 คะแนนบ่อยๆ ถูกทำโทษบ่อยๆ และมาโรงเรียนสายเป็นประจำ
พรินซ์ ออฟ สไตรด์ : ฟุจิวาระ ทาเครุ เป็นเด็กผู้ชายที่มีบุคคลิกที่สามารถเข้ากับทุกคนได้ง่าย ร่าเริงและแข็งแรงสดใสอยู่เสมอ มีสมรรถภาพทางด้านกีฬาสูง เข้าไปช่วยเหลือในหลายชมรม ในตอนแรกได้เปิดตัวด้วยการกระโดดข้ามรั้วในวันแรกของการเปิดภาคเรียนเนื่องจากตื่นสาย
พอได้เห็นฉากเล่านี้จะชวนให้สงสัยว่าที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ต้องมีคนวิ่งแล้วพูดว่า ‘สายแล้ว สายแล้ว’ ในทุกเช้าจริงๆหรือไม่ แต่หลังจากที่ได้ไปค้นหาคำตอบก็พบว่า คนญี่ปุ่นเป็นคนที่รักษาเวลาและให้ความสำคัญต่อการตรงต่อเวลามากเป็นวัฒนธรรมขั้นพื้นฐานที่ทุกคนล้วนปฏิบัติตาม ประกอบกับกฏระเบียบของโรงเรียนญี่ปุ่น ที่ใครสายจะมีบทลงโทษที่ต้องปฏิบัติตาม ยกตัวอย่างกฏระเบียบของโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่น ‘นักเรียนทุกคนจะต้องมาถึงโรงเรียนภายในเวลา 8.30น. หากสายมากกว่า 5 ครั้ง นักเรียนต้องทำความสะอาดโรงเรียนตอนเช้าเป็นเวลา 1 อาทิตย์’ ‘ ห้ามเข้าเรียนสาย นอกจากจะมีเหตุฉุกเฉินเท่านั้น ’
เรื่องการรักษาเวลาและตรงต่อเวลาถือว่าเป็นนิสัยของคนญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญต่อการรักษาเวลา ไม่ว่าจะเป็น การนัดหมายการทำงาน การนัดประชุมงาน การนัดเจอกันระหว่างเพื่อน หรือการไปโรงเรียน เพราะคนญี่ปุ่นคิดว่าทุกเวลาทุกวินาทีมีคุณค่าเสมอ
หากมีอนิเมะหรือการ์ตูนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ส่วนใหญ่ตัวละครจะเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน สามารถเดินไปเองหรือปั่นจักรยานไปโรงเรียน อีกปัจจัยที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะว่าในประเทศญี่ปุ่นสถานศึกษามีการกระจายตัวไปตามแหล่งชุมชนต่างๆอย่างทั่วถึง โดยจังหวัดที่มีการกระจายตัวของโรงเรียนมากที่สุดได้แก่ โตเกียว คานากาวะ, ไซตามะ (เมืองคุมะกายะ), ชิบะ, อะชิกะวะ, อิบาระกิ, โทชิกิ (เมืองอุสึโนมิยะ) , ยามานะชิ รองลงมาคือจังหวัดไอจิ, ชิสุโอกะ, คิฟุ, อิชิคาวะ
จากการสำรวจของกระทรวงศึกษาฯ ในปี 2017 ญี่ปุ่นมีโรงเรียนอนุบาล 10,877 แห่ง โรงเรียนประถมศึกษา 20,095 แห่ง โรงเรียนมัธยมต้น 10,325 แห่ง โรงเรียนมัธยมปลายกว่า 10,000 แห่ง ทั้งนี้ยังไม่รวมโรงเรียนที่มีหลักสูตรเฉพาะทาง และโรงเรียนสายอาชีพอีกหลายพันแห่ง ไม่เพียงแค่กระจายตัวเท่านั้น แต่กระทรวงศึกษาฯ ยังควบคุมมาตรฐานทุกโรงเรียนให้ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงกำหนดไว้ เพราะญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก
การศึกษาเป็นสิ่งที่น่าเคารพยกย่อง และทำให้คนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และในสังคม รัฐบาลจึงใส่ใจในเรื่องนี้อย่างมากโดยมีการทบทวนเนื้อหาในบทเรียนทุกๆ 3 ปี เพื่ออัปเดตเหตุการณ์ต่างๆ ตรวจสอบเนื้อหาในตำราเรียนให้มีมุมมองที่เป็นกลางและมีข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมแก่การสอนนักเรียน นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับจะได้รับตำราเรียนฟรีทุกคน จะเห็นว่าในการสอบแข่งขันระดับโลก นักเรียนญี่ปุ่นมักจะอยู่อันดับต้นๆ ทุกครั้ง เมื่อโรงเรียนรัฐบาลได้มาตรฐาน โรงเรียนเอกชนจึงต้องเข้มงวดในเรื่องนี้เช่นกัน เนื่องจากค่าเทอมที่แพงกว่า หากสู้โรงเรียนรัฐไม่ได้ก็คงไม่มีนักเรียนคนไหนมาสมัครเรียน
ด้วยความที่มาตรฐานโรงเรียนที่ใก้เคียงกันทำให้พ่อแม่ญี่ปุ่นให้ลูกๆ เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ทำให้นักเรียนญี่ปุ่นสามารถที่จะเดินหรือปั่นจักรยานมาโรงเรียนเองได้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่มักให้ลูกหลานสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง หรือโรงเรียนประจำจังหวัด
เพื่อให้สามารถเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยที่ดีได้ ซึ่งโรงเรียนที่พ่อแม่เห็นว่าได้มาตรฐานเหล่านี้มักมีเพียงไม่กี่แห่งในจังหวัด บางจังหวัดก็ไม่มีทำให้เด็กนักเรียนต้องใช้เวลาในการเดินทางมาเรียน ไม่ว่าจะเป็นการใช้การขนส่งสาธารณะ หรือรถยนต์ส่วนบุคคล จึงทำให้เราไม่ค่อยเห็นภาพของนักเรียนไทยที่จะเดินหรือวิ่งไปโรงเรียนสักเท่าไหร่
‘สายแล้ว สายแล้ว’ ไม่ใช่แค่เพียงฉากนึงในอนิเมะที่ผู้แต่งสร้างสถานการณ์นี้ขึ้นเพื่อแค่ความสนุกสนานของตัวเรื่องเท่านั้น แต่แสดงถึงวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่โบราณในเรื่องการตรงต่อเวลา พ่อแม่ทุกคนต้องปลูกฝังวินัยนี้ให้กับลูกตั้งแต่เด็ก เป็นเรื่องปกติของคนญี่ปุ่นที่ทุกคนต้องปฎิบัติตาม สภาพแวดล้อมและการดำรงชีวิตของคนญี่ปุ่นที่หล่อหลอมทำให้คนญี่ปุ่นเป็นคนที่รักษาเวลา ฉากที่ตัวละครรีบวิ่งไปโรงเรียนไม่มีทางที่จะหายไปจากอนิเมะและสังคมญี่ปุ่นแน่นอน
อ้างอิง