ประเทศญี่ปุ่นนอกจากจะมีอาหารนานาชนิดที่ไม่ว่าได้กินก็ติดใจแล้ว ยังมีขนมที่เป็นของขึ้นชื่อประจำประเทศและคุ้นหูคุ้นตาชาวต่างชาติอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากจะมีรสชาติที่อร่อย ยังมีรูปร่างหน้าตาที่แปลกชวนชิมอีกด้วย อย่าง เมล่อนปัง ขนมปังรูปร่างเหมือนผลเมล่อนที่ใครๆ ก็หลงรัก แต่ก็มีคนอยู่ไม่น้อยที่เข้าใจว่าเมล่อนปังมีรสชาติเหมือนเมล่อน แต่คิดผิด!! ผิดอย่างไรวันนี้เรามาร่วมหาคำตอบกันค่ะ
ขนมปังหลอกดาว
ต้องบอกก่อนว่าเจ้า เมล่อนปัง ขนมปังที่หลายคนอยากลิ้มลองหรือพบเห็นในการ์ตูน ซีรีส์ญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้งนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้ทำมาจากผลไม้เมล่อนตามชื่อ แต่เป็นแค่ขนมปังที่มีรูปร่างเหมือนเมล่อนเท่านั้น แถมยังไร้ไส้ ไร้กลิ่น ไร้สี ไร้รสชาติเมล่อน เรียกได้ว่านอกจากรูปร่างที่เป็นวงกลมและมีลายตารางแล้วก็ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับเมล่อนเลย แต่ถึงจะเป็นขนมปังไร้ไส้ แต่เจ้าเมล่อนปังก็ยังมีจุดเด่นคือ ลายข้างบนที่เป็นตารางลูกเมล่อนนั้นไม่ได้เป็นแค่เนื้อขนมปังธรรมดาทั่วไป แต่เป็นแป้งบิสกิตโปะด้านหน้าที่เมื่ออบออกมาแล้ว จะมีความกรุบกรอบและรสชาติหวานเบาๆ ด้วยเหตุนี้ความกรอบนอกนุ่มในถือเป็นจุดเด่นเมล่อนปังอีกอย่างหนึ่งที่ใครหลายๆ คนก็ติดใจ

ถึงแม้ว่าเมล่อนปังจะโด่งดังไปทั่วโลกและดูเป็นขนมที่ดูอินเตอร์ แต่จริงๆ แล้วมีต้นกำเนิดมาจาก โกเบ เมืองใหญ่ของจังหวัดเฮียวโงะที่อยู่ทางแถบฝั่งคันไซของญี่ปุ่น แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้มีลักษณะเป็นเมล่อนเหมือนอย่างปัจจุบัน แต่กลับกันมีลักษณ์ที่คล้ายกับข้าวห่อไข่หรือลูกรักบี้แทน แถมยังมีชื่อเรียกว่า โบซุยเคปัง (紡錘形パン) ถ้าแปลตามตัวจะแปลว่า ขนมปังทรงแกนปั่นด้าย เพราะแกนปั่นด้ายก็มีลักษณะวงรีเหมือนกัน คนในแถบคันไซจึงเรียกชื่อนี้มากกว่าเมล่อนปัง นอกจากรูปร่างจะแตกต่างกับเมล่อนปังในปัจจุบันแล้วข้างในของขนมปังยังมีไส้ถั่วขาวผสมกับมาการีนอีกด้วย อีกทั้งถ้าไปแถบฝั่งโกเบ โอซาก้า ก็จะพบเมล่อนปังหน้าตาแบบนี้เยอะมาก เรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของเมล่อนปังกลมๆ ในปัจจุบันเลยทีเดียว
จากแกนปั่นด้ายไปสู่เมล่อน
สาเหตุที่จากเมล่อนปังทรงรีกลายร่างเป็นทรงกลมนั้น ต้องย้อนกลับไปปี 1910 ที่คนญี่ปุ่นยังคงกินขนมปังแถวและขนมปังฝรั่งเศสกันอยู่ แต่ด้วยความที่มันไร้รสชาติจะกินเปล่าๆ ก็ไม่อร่อย ต่อมาในปี 1930 จึงมีการคิดค้นขนมปังแบบที่มีรสหวานในตัวและรสสัมผัสที่นุ่มละมุนมากขึ้น จากนั้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้มีการนำเอาวัฒนธรรมของทางฝั่งตะวันตกมาผสมผสานคือ การนำเอาแป้งบิสกิตมาคลุมด้านหน้าขนมปังให้มีเทกเจอร์รสสัมผัสที่แตกต่างกับขนมปังธรรมดามากขึ้น

ส่วนในเรื่องของรูปทรงนั้นอย่างที่บอกในช่วงแรกจะเป็นทรงรีเหมือนกับลูกรักบี้ แต่ทีเปลี่ยนมาเป็นทรงกลมเป็นเพราะเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของคนญี่ปุ่นที่นำเอาจุดเด่นของประเทศอย่าง พระอาทิตย์ มาเป็นต้นแบบให้กับขนมปัง ในช่วงนั้นเมล่อนปังทรงกลมจึงมีชื่อว่า ซันไรส์ปัง ซึ่งมีความหมายว่าพระอาทิตย์
ด้วยความที่เป็นทรงกลมจึงเป็นที่โด่งดังของในสมัยนั้นมาก ทำให้จากต้นกำเนิดแถบคันไซก็แพร่หลายไปยังแถบคันโต แต่เมื่อพอลามไปทั่วญี่ปุ่น คนโตเกียวก็เริ่มเห็นว่าเนื้อบิสกิตด้านบนขนมปังพออบแล้วมันจะแตกออกจากกัน ซึ่งพอเห็นแล้วมันดูไม่น่ากิน จึงมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขด้านหน้าขนมปังเกิดขึ้น โดยการนำมีดมาบั้งเป็นตารางเพื่อที่เวลาแป้งบิสกิตสุกแล้วขยายตัวจะได้แตกตามร่องของตัวเองได้ ขนมปังจะได้ไม่ต้องแตกระแหงไปทั่วทั้งชิ้น ด้วยเหตุนี้ทำให้ตารางเมล่อนถือกำเนิดขึ้น จากซันไรส์ปังจึงเปลี่ยนชื่อกลายเป็น เมล่อนปัง ที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้นั่นเอง
หมดยุคขนมปังไร้ไส้
ขนมปังไร้ไส้ต่อให้ด้านหน้าจะมีรสชาติหวานยังไง ก็ไม่อร่อยเท่าขนมปังมีไส้แน่นอน เมล่อนปังก็เช่นกัน เพื่อให้มีความหลากหลายในการลิ้มรสมากขึ้น ปัจจุบันจึงมีการใส่ไส้ ครีม ช็อกโกแลต คัสตาร์ด เพื่อเป็นตัวเลือกให้สำหรับคนที่ไม่ชอบกินขนมปังเปล่าๆ ได้อร่อยมากขึ้น และนอกจากเหล่าบรรดาไส้ที่มีให้เลือกหลากหลายแล้ว ยังมีการเปลี่ยนตัวรสชาติขนมปังให้เป็นรสชาเขียว สตรอเบอรี่ ช็อกโกแลต และอื่นๆ อีกมากมาย
คราวนี้เราก็ได้ทราบกันแล้วว่าเมล่อนปัง จริงๆ แล้วไม่ได้ทำมาจากผลเมล่อน ไม่มีไส้ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเมล่อนเลยนอกจากรูปร่างหน้าตา อีกทั้งต้นกำเนิดจริงๆ ก็ยังเป็นรูปทรงวงรีแทนซะงั้น เรียกได้ว่าเป็นแค่ขนมปังแต่มีประวัติที่ซับซ้อนเหลือเกิน ถ้ามีโอกาสไปญี่ปุ่นหรือเจอตามมินิมาร์ทลองไปลิ้มรสเมล่อนปังกันดูนะคะ เชื่อว่าหลายคนได้ชิมแล้วจะติดใจแน่นอน
อ้างอิง