ช่วงนี้ที่ญี่ปุ่นจะตรงกับเทศกาลโอบงค่ะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลของญี่ปุ่นที่มีความสำคัญพอๆ กับวันปีใหม่ บริษัทส่วนมากจะปิดทำการในช่วงนี้ โดยเทศกาลจะจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคมของทุกปี ชาวญี่ปุ่นจะกลับบ้านเกิดเพื่อไปไหว้บรรพบุรุษ เนื่องจากเชื่อกันว่าในช่วงเวลานี้วิญญาณจะได้รับอนุญาตให้กลับมายังโลกได้ชั่วคราว
ในวันที่ 13 สิงหาคมจะมีการจุด มุคาเอฮิ ไฟต้อนรับหน้าประตูบ้าน เพื่อนำทางให้วิญญาณของบรรพบุรุษเดินทางมายังบ้านโดยไม่หลงทาง
และบนแท่นบูชาจะวางตะเกียบที่หักได้หรือไม้ขีดไฟมาเสียบเข้ากับแตงกวาทำเป็นรูปม้า
เพื่อให้บรรพบุรุษเดินทางมาถึงบ้านด้วยความรวดเร็ว
และใช้มะเขือม่วงซึ่งสื่อถึงวัว เป็นยานพาหนะกลับ เพื่อให้บรรพบุรุษใช้เวลาอยู่ในโลกนานขึ้น อีกทั้งวัวสามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากจะได้ขนของที่ลูกหลานไหว้กลับโลกวิญญาณได้มากขึ้น
และในวันสุดท้ายก็จะมีการจุด โอคุริบิ เพื่อส่งดวงวิญญาณกลับ บางที่ก็มีการนำโคมไปลอยในแม่น้ำ เพื่อเป็นแสงนำทางเหล่าวิญญาณกลับสู่สวรรค์
แน่นอนว่าในช่วงสัปดาห์วันโอบงย่อมมีวิญญาณเดินทางมายังโลกมากมาย ซึ่งนั่นทำให้เกิดเรื่องเล่าของเหล่าวิญญาณหลากหลายเรื่องราวมีทั้งสนุก สยอง และชวนปวดสมองไปพร้อมๆ กัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่พวกเราอ่านเจอในการ์ตูนญี่ปุ่นหลายๆ เรื่อง
ส่วนวันนี้ ฤกษ์งามยามดี เรามีคดีสยองที่เป็นเรื่องเล่าคู่กับเทศกาลโอบงมาเล่าให้ทุกคนฟังค่ะ
จับเข่าเล่าเรื่อง
เมื่อ 10 ปีก่อนเกิดคดีสะเทือนขวัญขึ้นที่เมืองอะโอะโมะริในญี่ปุ่น มีฆาตกรลอบเข้าไปสังหารหมู่ครอบครัวเศรษฐีในบ้านหลังหนึ่ง พ่อแม่และลูกชายคนโตวัย 10 ขวบเสียชีวิต รอดมาได้เพียงนัตสึมิ ลูกสาวคนเล็กวัยเพียง 8 ขวบ
ในวันเกิดเหตุ ตำรวจพบนัตสึมินั่งร้องไห้ตัวสั่นอยู่ในตู้เสื้อผ้า ใช้เวลาอยู่นานกว่าตำรวจจะเกลี้ยกล่อมให้เธอหายจากอาการหวาดกลัว แล้วยอมเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ฟัง
นัตสึมิเล่าทั้งน้ำตาว่า ตอนนั้นคุณพ่อกำลังต่อสู้กับคนร้าย แม่จึงให้เธอเข้าไปหลบอยู่ในตู้เสื้อผ้า สั่งเธอว่าห้ามออกมา จากนั้นคนร้ายก็เข้ามาในห้องแล้วใช้มีดสังหารแม่ แต่ไม่รู้ว่าพี่ชายหลบอยู่ที่ไหน
นัตสึมิมองเห็นทุกอย่างผ่านช่องเล็กๆ ของประตูตู้เสื้อผ้า แต่ฆาตกรสวมหมวกจึงเห็นหน้าไม่ชัด
ทว่ามีเพียงช่วงหนึ่งที่ฆาตกรถอดเสื้อที่เลอะเลือดออกเพื่อเปลี่ยนไปสวมเสื้อตัวใหม่ ทำให้เธอเห็นรอยสักของมันเต็มตา
นัตสึมิยังเด็กมากจึงไม่อาจอธิบายภาพรอยสักที่เห็นให้ตำรวจเข้าใจ เธอบอกได้แค่ว่ารอยสักนั้นเป็นรูปภาพซามูไรต่อสู้กันในสงคราม
เนื่องจากครอบครัวถูกฆ่าตายจนหมด เหลือแค่เธอซึ่งยังเป็นเด็กมาก ทำให้ในเวลาต่อมา นัตสึมิถูกส่งตัวไปอยู่กับตายายในจังหวัดอิวะเตะ ส่วนตำรวจก็ยังคงตามหาตัวฆาตกรต่อไป
เวลาล่วงเลยผ่านมาถึง 10 ปีแล้ว แต่ฆาตรกรเป็นใครนั้นตอนนี้ยังคงเป็นปริศนา คดีนี้จึงกลายเป็นคดีสยองขวัญที่ฆาตกรยังคงลอยนวลอยู่
จวบจนนัตสึมิโตเป็นสาวอายุ 18 ปี เธอก็เดินทางมาร่วมเทศกาลเนะบุตะ ซึ่งจัดในช่วงต้นเดือนสิงหาคม และตั้งใจอยู่ยาวจนถึงเทศกาลโอบงเพื่อมากราบไหว้ครอบครัวของเธอ
นัตสึมิกลับมายังบ้านเกิดพร้อมกับเอจิ แฟนหนุ่มที่ได้พบกันตอนเรียนมัธยมปลายในเมืองอิวะเตะ เอจิมีบ้านเกิดอยู่ที่อะโอะโมะริ เมื่อถึงงานเทศกาลเขาถึงกลับไปร่วมงานฉลองกับครอบครัวตามประเพณี
“แน่ใจนะนัตสึมิ ว่าเธอจะมาเที่ยวงานเนะบุตะจริงๆ” เอจิถามนัตสึมิอย่างเป็นห่วง เขาเองก็รู้ดีว่าเมื่อ 10 ปีก่อนครอบครัวของนัตสึมิต้องพบเจอเรื่องร้ายแรงจนเธอต้องย้ายไปอยู่ที่อิวะเตะ
“ไม่เป็นไรหรอก ฉันอยากเห็นเอจิร่วมตีกลองไทโกะ ต้องเท่แน่ๆ เลย ฉันจะคอยถ่ายรูปให้นะ” นัตสึมิยิ้ม
จริงๆ แล้วเธอไม่อยากกลับมาเมืองนี้เลย เพราะถึงจะผ่านไป 10 ปีแล้วแต่ฝันร้ายก็ยังคงตามหลอกหลอนอยู่ตลอด แต่เมื่อเอจิต้องกลับมาร่วมงานจึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้
เมื่อถึงวันจัดงาน เอจิรับหน้าที่ตีกลองไทโกะยักษ์ เขาต้องขึ้นไปนั่งอยู่ด้านบนกลองไทโกะเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.3 เมตร บนถนนมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวงานกันอย่างเนืองแน่น
ไฮไลต์ของงานช่วงกลางคืนคือขบวนพาเหรดโคมไฟขนาดใหญ่ รูปทรงต่างๆ ที่เคลื่อนขบวนออกมาโชว์แสงสีสวยงามบนท้องถนน
ด้านหน้าของโคมไฟมีลดลายเรียกว่า คะงะมิเอะหรือภาพกระจกเงา ที่มักเป็นภาพสงครามที่น่ากลัว บางภาพถึงขั้นมีตัวละครที่ลูกตาถลนออกมาจากเบ้า สื่อให้เห็นถึงความดุเดือดและโหดร้ายของสงครามในสมัยโบราณ บางคนจึงเรียกเทศกาลเนะบุตะว่าเทศกาลโคมไฟสยอง
ช่วงท้ายของงาน เอจิถอดชุดยูกาตะกลับไปสวมชุดปกติตามเดิมเพื่อเดินเที่ยวงานกับนัตสึมิ
ระหว่างที่ทั้งสองเดินชมโคมไฟ นัตสึมิก็พลันเห็นลวดลายบนโคมไฟขนาดใหญ่ทรงพัดโคมหนึ่ง จู่ๆ เธอก็กรี๊ดดังลั่น ทำให้เอจิและผู้ที่มาร่วมงานแถวนั้นต้องช่วยกันพยุงนัตสึมิไปนั่งสงบสติอารมณ์ เธอหน้าซีดตัวสั่นกอดแขนเอจิเอาไว้แน่น
“ลายคะงะมิเอะบนโคมไฟดวงนั้น ป…เป็นลายเดียวกับรอยสักบนหลังฆาตกรที่ฆ่าครอบครัวของฉัน!”
เอจิและชาวบ้านตกใจมาก พวกเขาจึงรีบพาตำรวจที่ตรวจตราความสงบในงานมาพบนัตสึมิ หลังจากนั้นตำรวจจึงนำโคมไฟดวงนั้นมาให้นัตสึมิดูให้ชัดอีกครั้งหนึ่ง
นัตสึมิยืนยันว่ารูปภาพบนโคมคือภาพเดียวกันกับรอยสักบนหลังของฆาตกรไม่ผิดแน่
ตำรวจนำตัวช่างเขียนที่วาดรูปบนโคมไฟมาสอบสวน แต่เขาอายุเพียง 20 ปี จึงไม่ใช่ฆาตกร เพราะเมื่อ 10 ปีก่อนเขามีอายุแต่ 10 ขวบและไม่มีรอยสักที่หลัง
ตำรวจจึงสอบสวนต่อว่าเขาได้ภาพต้นแบบที่ใช้วาดโคมมาจากไหน
“ผมได้แบบมาจากรอยสักที่หลังของคนรู้จักคนหนึ่ง เขาเป็นกรรมกรก่อสร้างในเมืองอะกิตะ รอยสักที่หลังของเขาดูสวยและน่ากลัวมาก ผมจึงแอบถ่ายรูปรอยสักที่หลังตอนที่เขาถอดเสื้อระหว่างทำงานและนำมาเป็นแบบวาดรูปโคมไฟในงานเทศกาลเนะบุตะ”
ตำรวจจึงรีบสืบสวนหาร่องรอยของคนร้ายตามคำให้การของช่างเขียนรูป ตำรวจเร่งสืบสวนจนเกือบสัปดาห์ เขาก็พบกับชายคนหนึ่งซึ่งรรูปพรรณสัณฐานตรงกับที่ช่างเขียนรูปได้ให้การไว้ ตำรวจจึงเข้าควบคุมตัวในทันที
และรอยสักที่หลังกลายเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ใช้มัดตัวเขา
หลังจากสอบปากคำ แม้ในตอนแรกคนร้ายจะยังไม่ยอมรับสารภาพ แต่ด้วยหลักฐาน และความหวาดระแวงที่อยู่ในใจของคนร้าย ทำให้เขายอมรับสารภาพว่าเป็นคนสังหารโหดครอบครัวของนัตสึมิเมื่อ 10 ปีก่อน
ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมาคนร้ายใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง เพราะกลัวว่าจะถูกจับได้
ส่วนเงินที่ปล้นมาได้เอามาใช้ไปกับการหลบหนีจนหมดแล้ว
“ผมไม่รู้ว่ามีเด็กผู้หญิงแอบอยู่ในตู้เสื้อผ้า หากรู้คงฆ่าเธอไปแล้ว” นั่นคือคำพูดสุดท้ายที่เขาพูดกับตำรวจ
ในที่สุดคดีฆาตกรรมบ้านนัตสึมิก็ปิดฉากลงในวันโอบงซึ่งเป็นเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของครอบครัว
นัตสึมิไปที่สุสานและพูดกับป้ายหลุมศพทั้งน้าตา
“พ่อคะ…แม่คะ…พี่คะ…หนูจับฆาตกรได้แล้ว หลับให้สบายนะคะ”
นัตสึมิจ้องมองไปยังรูปภาพครอบครัวของเธอ น้ำตาที่พยายามกลั้นไว้ก็ค่อยๆ ไหลออกมาเป็นสาย ทันใดนั้น สายลมที่เคยสงบนิ่งก็เริ่มพัดวนอยู่รอบๆ ตัวเธอราวกับต้องการจะโอบกอด ปลอบประโลมให้คลายเศร้า
นี่เป็นเรื่องเล่าสยองเคล้าสนุกในช่วงเทศกาลโอบงนี้ที่อยากเล่าสู่กันฟัง แต่ถ้าใครอยากรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของเทศกาลนี้อีก เราขอแนะนำให้อ่านต่อในบทความเรื่อง การเต้นรำบงโอโดริ และการลอยโคมโทโรนากาชินะคะ
ที่มา
เรื่องเล่า ดัดแปลงจาก หนังสือเรื่องผีๆ รอบโลก ตอน โคมไฟสยอง
ภาพประกอบจากเรื่อง Kyoukai no Rinne, Yami shibai