อนิเมะแนวกีฬาที่เราได้ดูนั้นส่วนใหญ่มักจะสร้างจากกีฬายอดนิยมที่ใครๆ ก็รู้จัก ที่ฮิตเอามาทำเป็นอนิเมะสุดๆ ก็คงเป็นฟุตบอลไม่ว่าจะเป็นกัปตันสึบาสะ นักเตะแข้งสายฟ้า สิงห์สนาม Days หรือจะเป็นบาสเก็ตบอลอย่างเรื่องสแลมดังก์ นายจืดพลิกสังเวียนบาส อนิเมะกีฬาในยุคแรกๆ มักจะสร้างตามความเป็นจริงของกีฬานั้นๆ แต่หลังๆ ก็เริ่มใส่ความแฟนตาซีเข้าไปด้วย บางครั้งก็แข่งกีฬากับเอเลียน หรือใช้ท่าไม้ตายที่คล้ายจะเป็นพลังวิเศษ
แต่อนิเมะไม่ได้รับกีฬาที่มีอยู่จริงมาทำเป็นเรื่องอยู่ฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังมีกีฬาออริจินัลที่ถือกำเนิดจากอนิเมะเช่นกัน นั่นก็คือ กีฬาสไตรด์ ที่อยู่ในอนิเมะเรื่อง Prince of Stride Alternative เป็นกีฬาที่นำการวิ่งผลัด ปาร์กัวร์ (Parkour)และ Free Running มาผสมผสานกันจนเกิดเป็นกีฬาชนิดนี้ขึ้น
Prince of Stride Alternative เป็นอนิเมะที่ดัดแปลงมาจากเกมจีบหนุ่ม ออกอากาศเมื่อปี 2016 มีทั้งหมด 12 ตอนจบ เรื่องราวนั้นกล่าวถึง ซากุราอิ นานะ เด็กสาวที่ชื่นชอบกีฬาสไตรด์เป็นอย่างมากจึงสมัครเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนโฮนันซึ่งมีชื่อเสียงด้านนี้ ทำให้ได้พบกับ ฟุจิวาระ ทาเครุ เด็กหนุ่มที่ต้องการเข้าชมรมสไตรด์ แต่พวกเขาทั้งสองกลับพบว่าชมรมนี้กำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ เนื่องด้วยมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่เพียง 3 คน ซึ่งประกอบไปด้วย โคฮินาตะ โฮซุมิ ปี 2 คาโดวากิ อายูมุ ปี 2 และฮาเซคุระ ฮีธ ปี 3 จึงทำให้ไม่สามารถลงแข่งขันที่ต้องใช้คน 6 คนได้ ดังนั้นถ้าทั้งสองคนต้องการจะฟื้นฟูชมรมหรือลงแข่งจะต้องหาสมาชิกมาเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งในท้ายที่สุดก็ได้ ยางามิ ริคุ เด็กหนุ่มลมกรด ผู้ถูกฟุจิวาระลากตัวแกมบังคับมาให้เข้าชมรม
สร้างจากฟรีรันนิ่ง
การวิ่งข้ามสิ่งกีดขวางหรือ Free Running จริงๆ แล้วมีจุดเริ่มต้นมาจากกีฬา ปาร์กัวร์ ของฝรั่งเศสซึ่งนิยมเล่นในเขตชุมชนที่พักอาศัย ผู้เล่นจะต้องเคลื่อนย้ายตัวเองจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยไม่ใช่อุปกรณ์หรือเครื่องทุ่นแรงใดๆ โดยที่สิ่งแวดล้อมต่างๆ ในสถานที่นั้นอาจมีสิ่งกีดขวางต่างๆ ผู้เล่นจึงต้องก้าว ข้าม กระโดด ลอดให้ได้ การเล่นปาร์กัวร์นั้นต้องอาศัยทักษะและสมรรถนะของร่างกายหลายประการ ทั้งความอดทน ความแข็งแรง ความสมดุล ความคิดสร้างสรรค์ ความลื่นไหล การควบคุม ความแม่นยำ มีสติเพื่อไปยังจุดหมายให้เร็วที่สุด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการกำหนดเส้นทางวิ่งเป็นเส้นตรง
ส่วน Free Running นั้นจะเน้นไปที่ความสวยงามขณะเคลื่อนไหวด้วยวิธีสร้างสรรค์ ใช้ยิมนาสติกเข้ามาช่วย เป็นการวิ่งด้วยท่วงท่าที่สวยงาม ตื่นตาตื่นใจ อย่างเช่นการปีนป่ายไปบนกำแพง กระโดดตีลังกาจากที่สูง และท่าทางออกมาให้ดูพริ้วไหวและโดดเด่น และเล่นในสถานที่เฉพาะที่ถูกจัดไว้อย่างปลอดภัยและใช้ท่วงท่าได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องใช้ความสามารถทางกายภาพ ความสมดุลและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่นเช่นกัน ซึ่งด้วยท่วงท่าที่งดงามนี้เองทำให้ Free Running จึงเป็นที่นิยมมากกว่า ปาร์กัวร์ อาจเรียกได้ว่า 2 อย่างนี้คล้ายกัน แต่เป็นคนละกีฬากัน
การแข่งนั้นส่วนใหญ่จะเป็นแบบเดี่ยว ตัดสินผู้ชนะโดยให้คะแนนจากความยากของการข้ามสิ่งกีดขวาง ความสวยงามของท่วงท่า และะความปลอดภัยของผู้เล่น
กำเนิดกีฬาชนิดใหม่
อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่าสไตรด์เป็นกีฬาที่พัฒนามาจากวิ่งผลัด ปาร์กัวร์และฟรีรันนิ่ง โดยการแข่งนั้นจะแข่งกันเป็นทีม 1 ทีมมี 6 คน เป็นนักวิ่ง 5 คน และรีเลชันเนอร์ 1 คน นักวิ่งทุกคนจะต้องใส่หูฟังเพื่อฟังคำสั่งจากรีเลชันเนอร์และต้องสวมนาฬิกาที่ทำหน้าที่เป็น GPS ส่วนรีเลชันเนอร์นั้นนอกจากมีไมค์และหูฟังไว้สำหรับสื่อสารและสั่งการแล้วก็จะควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างผ่านมอนิเตอร์ด้านหน้าของตน ในมอนิเตอร์นั้นจะแสดงภาพตำแหน่งของนักวิ่งและเส้นทางการวิ่งจาก GPS ในนาฬิกาข้อมือ
การวิ่งจะคล้ายวิ่งผลัดตรงที่จะเริ่มวิ่งทีละคน แต่ว่าไม่มีไม้ผลัด ใช้การแตะมือแทน จุดแตกต่างอีกอย่างคือการวิ่งผลัดจะต้องรอให้คนที่ 1 ส่งไม้ก่อนคนที่ 2 จึงจะเริ่มวิ่งได้ แต่สไตรด์นั้นจะให้รีเลชันเนอร์กะจังหวะให้ผู้วิ่งคนที่ 2 วิ่งออกจากจุดสตาร์ทมาแตะมือกับผู้วิ่งคนแรกในจุดเปลี่ยนตัวให้พอดีกัน
เพราะฉะนั้นรีเลชันเนอร์จึงมีบทบาทสำคัญในการคาดการณ์จังหวะเวลาในการวิ่งและการเปลี่ยนตัว นอกจากความแม่นยำแล้วคนในทีมต้องมีความเชื่อใจกันอย่างที่สุด เพราะไม่งั้นอาจเกิดอุบัติเหตุกับตัวเพื่อนร่วมทีมได้
การแข่งจะไม่ได้วิ่งในลู่วิ่งเหมือนกับวิ่งผลัดแต่จะวิ่งในเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางเหมือนกับปาร์กัวร์ แต่ระหว่างวิ่งก็อาจมีการใช้ท่ายิมนาสติกเพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนดูเหมือนกับฟรีรันนิ่ง
แต่การตัดสินแพ้ชนะจะวัดกันที่ใครเข้าถึงเส้นชัยก่อนกัน ซึ่งจะต่างกับปาร์กัวร์และฟรีรันนิ่งที่นับคะแนนจากความยากง่าย ความสวยงามของท่วงท่า
นอกจากบาดเจ็บในระหว่างการแข่งแล้วการจะเล่นสไตรด์หรือฟรีรันนิ่งได้นั้นต้องผ่านการฝึกฝนอย่างถูกต้อง ยาวนาน ไม่ใช่คิดอยากจะเล่นก็เล่นได้ บางคนต้องใช้เวลาฝึกถึง 10 ปีกว่าจะวิ่งข้ามสิ่งกีดขวางได้คล่อง บางครั้งต้องกระโดดข้ามตึก ข้ามกำแพงสูงชัน ถ้าไม่เซฟตัวเองให้ดีหรือขาดการฝึกฝนก็อาจเจ็บตัวหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
https://www.youtube.com/watch?v=PtdI_v8s_9Y
การผสมผสานของกีฬาต่างๆ ใน Prince of Stride Alternative จนเกิดเป็นกีฬาสไตรด์นั้นต้องขอนับถือคนต้นคิดจริงๆ เพราะทำออกมาได้ลงตัวจนนึกว่ามีกีฬาชนิดนี้อยู่จริง นอกจากนี้การใส่เทคโนโลยีเข้าไปในการกีฬานั้นนับว่าเป็นความก้าวหน้าของวงการกีฬาที่อยากให้เกิดขึ้นจริงมากๆ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นสไตรด์ในการแข่งโอลิมปิกก็เป็นได้
ที่มา