“ทำไมเป็นนักเขียนการ์ตูนแล้วถึงถูกเรียกว่า อาจารย์?”
ช่างเป็นคำถามยอดฮิตที่ชวนสงสัยจริงๆ เมื่อนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นต่างถูกเรียกว่า อาจารย์ จนมีหลายคนงงกันไปเป็นแถบๆ ว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนไม่ได้ไปสอนหนังสือใคร แล้วทำไมถึงได้กลายเป็นอาจารย์ไปซะได้ เรามาไขข้อสงสัยนี้กันดีกว่า
เซ็นเซย์ ไม่ได้แปลว่าอาจารย์เสมอไป
ปกติแล้วในภาษาญี่ปุ่นคำว่า เซ็นเซย์ (先生) จะแปลว่า ครู, อาจารย์ ซึ่งความจริงแล้วคำนี้ไม่ได้แค่ใช้เรียกอาชีพที่คอยสอนหนังสือให้กับนักเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในอีกความหมายหนึ่งคนญี่ปุ่นก็จะเรียกผู้ที่เชี่ยวชาญในสายอาชีพว่าเซ็นเซย์ได้เหมือนกัน เพื่อเป็นการยกย่องและให้เกียรติต่อผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านเฉพาะทาง เพราะบรรดาอาชีพที่ได้รับการเรียกนั้นกว่าจะสามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้ต้องอาศัยระยะเวลาในการสั่งสมประสบการณ์ที่ค่อนข้างยาวนาน เช่น หมอ ทนาย นักการเมือง หรือแม้กระทั่ง นักเขียนการ์ตูน
นักเขียนการ์ตูนเองก็เป็นอาชีพหนึ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คนไทยมักจะคิดว่านักเขียนการ์ตูนจะ ‘ไส้แห้ง‘ รายได้น้อย อาชีพไม่มั่นคง และไม่ค่อยให้ความสำคัญกันเท่าไรนัก แต่สำหรับที่ประเทศญี่ปุ่นนักเขียนการ์ตูนเปรียบเสมือนผู้ที่มีพรสวรรค์ และความสามารถไม่แพ้อาชีพอื่นๆ เลย จนปัจจุบันวงการการ์ตูนญี่ปุ่นก็กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้อีกด้วย
การจะเป็นนักเขียนการ์ตูนนั้นไม่ใช่แค่นึกอยากจะวาดอะไรก็วาดได้เสมอไป เพราะญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งการ์ตูนจึงมีผู้วาดฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนอยู่ไม่น้อย คู่แข่งในตลาดนี้จึงมีมากจนนับไม่ถ้วน การที่จะให้ลายเส้น เนื้อเรื่องเป็นที่ต้องการของสำนักพิมพ์ และเป็นที่จดจำของผู้อ่านนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด นักเขียนการ์ตูนจะต้องคอยพัฒนาฝีมืออยู่ตลอดเวลา บางคนกว่าจะกลายเป็นที่ยอมรับ และมีชื่อเสียงได้นั้นต้องใช้เวลาถึง 10 ปีเลยก็มี จึงไม่แปลกเลยที่การ์ตูนดังหลายเรื่องมีอายุอานามมากกว่าเราซะอีก
ยิ่งถ้าแนวเรื่องมีความเจาะลึกไปทางใดทางหนึ่งยิ่งต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและเรียนรู้ค่อนข้างมาก เช่น แนวสืบสวนสอบสวน จะต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์ในเชิงลึก การที่จะให้ผู้อ่านได้ลุ้นระทึกร่วมไขปริศนาไปด้วยจึงต้องใช้ทักษะในการเขียนเนื้อเรื่อง การเรียบเรียงบท การวางพล็อตเรื่อง และการวาดเป็นอย่างมาก นักเขียนการ์ตูนบางท่านถึงกับลงสนามจริงเพื่อไปตรวจสอบ เรียนรู้ข้อมูลด้วยตัวเองจริงๆ เลยก็มี เรียกได้ว่ากว่าจะเป็นการ์ตูนออกมาเล่มนึงให้เราได้อ่านกันต้องมีความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้านเลยก็ว่าได้
นักเขียนการ์ตูนก็เป็นอาจารย์ได้
ใครว่านักเขียนการ์ตูนไม่สามารถเป็นอาจารย์ได้ ที่จริงแล้วอาชีพนักเขียนการ์ตูนไม่ใช่เพียงแค่เขียนงานให้ตัวเองแล้วจบไป แต่ยังคงนำเอาความสามารถด้านวิชาความรู้มาเผยแพร่ให้ ลูกศิษย์ ลูกมือของตัวเองต่อไปในอนาคตได้ด้วย จึงมีอาจารย์นักเขียนอยู่ไม่น้อยที่เอาวิชาที่สั่งสมมาตลอดถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ของตัวเอง ไม่ว่าจะการวาดลายเส้น การวางพล็อตเรื่อง ทำให้บางครั้งผลงานที่ออกมานั้นไม่ใช่เพียงแค่อาจารย์นักเขียนเป็นผู้ทำเพียงคนเดียว แต่จะมีลูกศิษย์ที่คอยช่วยดูแลส่วนต่างๆ ให้ผลงานสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
อีกทั้งเราจะเห็นได้ว่าอาจารย์บางท่านที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังคงมีผลงานออกมาเรื่อยๆ ได้อยู่ก็เป็นเพราะอาจารย์เจ้าของผลงานได้ถ่ายทอดความสามารถของตนให้ลูกศิษย์คนนั้นดูแลต่อ เช่น โดราเอมอนของ อ.ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ ที่ถึงแม้อาจารย์จะจากพวกเราไปกว่า 23 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีผลงานออกมาให้ชมอยู่เรื่อยๆ เป็นเพราะอาจารย์มีลูกศิษย์ที่สืบทอดเจตนารมณ์ต่อนั่นเอง
เห็นได้ชัดเลยว่าคนญี่ปุ่นใส่ใจ และให้เกียรติต่อทุกอาชีพอย่างถ่องแท้จริงๆ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ต่างคนก็ต่างมีความรู้ความสามารถที่ไม่เหมือนกัน เรียกง่ายๆ ว่าแต่ละอาชีพมีความเก่งเป็นของตัวเองกันหมด และสามารถนำเอาทักษะฝีมือนั้นมาถ่ายทอดให้คนอื่นต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย คราวนี้ก็หมดข้อสงสัยแล้วว่าทำไมนักเขียนการ์ตูนถึงได้ถูกเรียกว่าอาจารย์แล้วล่ะ