ชายหนุ่มในภาพคนนี้คือนักศึกษาแพทย์แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ผู้ที่ต่อมาได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งการ์ตูนญี่ปุ่น อ.เทะซึกะ โอซามุนั่นเองค่ะ
คุณผู้อ่านที่เคยอ่านแบล็คแจ็คและเห็นลายเส้นการวาดพังผืด เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้ออันละเอียดละออภายในเรื่อง ประกอบกับองค์ความรู้ทางการแพทย์มากมายคงจะไม่แปลกใจที่จะทราบว่าอ.เทะซึกะจบคณะแพทย์มา ที่จริงแล้ว ชีวิตของอ.เทะซึกะนั้นมีแง่มุมที่ใกล้ชิดกับวงการการแพทย์เป็นอย่างมากเลยล่ะค่ะ
นอกจากจะมีคุณปู่เป็นหมอแล้ว ตลอดชีวิตวัยเด็กของอ.เทะซึกะ อาจารย์มีความสนใจใฝ่รู้รอบด้านและรักการอ่านหนังสือทุกประเภท และยังชอบวาดการ์ตูนมาตั้งแต่ประถม จนกระทั่งในวัย 17 ปี อาจารย์ได้ล้มป่วยลงและแขนทั้งสองข้างเกิดอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงและบวมมาก จนแพทย์วินิจฉัยว่าอาจต้องตัดแขนทั้งสองข้างออก แต่อ.เทะซึกะก็ได้แพทย์ฝีมือดีมาช่วยรักษาได้ทันและไม่ต้องตัดแขนทิ้ง อ.เทะซึกะจึงประทับใจและมีความสนใจอยากเรียนแพทย์เพื่อช่วยเหลือชีวิตคนเป็นต้นมา
ประกอบกับในช่วงนั้นสงครามโลกครั้งที่สองได้ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 1939 บ้านเมืองเกิดภาวะขาดแคลนแพทย์ ในปี 1945 อ.เทะซึกะจึงตัดสินใจเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า ซึ่งเป็นคณะใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ในยามนี้โดยเฉพาะ เขาได้เรียนจบและได้รับใบประกอบโรคศิลป์ในปี 1952
ในระหว่างเรียนนั้นเอง เพื่อนบ้านของอ.เทะซึกะได้แนะนำให้เขาลองเขียนการ์ตูนส่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น จึงกำเนิดเป็น ‘ไดอารีของม่าจัง’ (1946) ผลงานชิ้นแรกที่ทำให้อ.เทะซึกะได้ใกล้ชิดกับการ์ตูนแบบมืออาชีพยิ่งขึ้น ตามมาด้วย ‘เกาะมหาสมบัติ’ ในปี 1947 ที่ฮิตระเบิด อาจารย์จึงยิ่งขวนขวายหาที่ลงการ์ตูนกับสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ขึ้น พร้อมกันนั้นเขาก็มุ่งมั่นกับการเรียนแพทย์และทำผลการเรียนได้ดีเยี่ยมอีกด้วย
เมื่อเรียนจบ อาจารย์ก็ยังลังเลระหว่างจะเดินทางสายอาชีพแพทย์ต่อหรือเขียนการ์ตูนดี แม่ของเขาก็แนะนำว่า “เลือกทำสิ่งที่ใจรักเถอะ” อาจารย์เทะซึกะก็ได้ยึดอาชีพนักเขียนการ์ตูนเป็นต้นมา กระนั้นแล้ว อาจารย์ก็ยังไม่คลายความสนใจด้านการแพทย์ เขายังคงหาเวลาช่วงที่ว่างเว้นจากการเขียนการ์ตูนไปทำแล็บและทำวิจัยโครงสร้างเยื่อบุของเซลส์อสุจิผิดปกติด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน (วิจัยจากสัตว์จำพวกหอยขม) ได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นาระในปี 1962 อีก
แม้ว่าตั้งแต่จบมาอ.เทะซึกะจะไม่เคยรักษาคนไข้ด้วยตนเอง แต่กล่าวกันว่าแบล็คแจ็คคืออีกตัวตนของเขาที่เลือกเส้นทางเป็นศัลยแพทย์ ผลงานการ์ตูนที่เกี่ยวกับการแพทย์ของอ.เทะซึกะนั้นไม่เพียงแต่ถูกวาดอย่างสมจริงพร้อมใส่ความรู้จากคนเป็นหมอโดยตรง แต่ยังได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับวงการการแพทย์ของญี่ปุ่นซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเรื่องจริยธรรมของแพทย์ การเลือกรักษาคนไข้ หรือการเมืองในแพทยสภา นำไปสู่ความตื่นตัวประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านและมีการนำเข้าไปถกในแพทยสภาและปฏิรูปวงการการแพทย์ของญี่ปุ่นอย่างจริงจัง
การ์ตูนของอ.เทะซึกะที่เกี่ยวข้องกับหมอโดยตรงไม่ได้มีเพียงแบล็คแจ็ค แต่ยังมีเรื่อง ‘คิริฮิโตะ ซันกะ’ (1970-1971) ที่ตัวเอกเป็นหมอที่ถูกส่งไปยังพื้นที่และติดเชื้อประหลาดที่ร่างกายของผู้ป่วยจะมีสภาพเหมือนสุนัก และ ‘ฮิดะมะริ โนะ คิ’ (1981-1986) ซึ่งเป็นการ์ตูนแนวย้อนยุคเกี่ยวกับชายหนุ่มผู้เป็นทั้งแพทย์และซามุไร ซึ่งอาจารย์ได้เขียนขึ้นจากคุณปู่ของเขาจริงๆ นอกจากนี้ผลงานอื่นๆ ของเขาก็ยังคงสอดแทรกแง่มุมและอุดมด้วยความรู้ทางการแพทย์
ผลงานเหล่านี้ได้เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คนอีกมากมาย ในยุคนั้นมีคนจำนวนมากที่เลือกเรียนหมอเพราะอยากเป็นแบบแบล็คแจ็ค เป็นแรงบันดาลใจของอ.นาโอกิ อุรุซาวะ ผู้ต่อมาเขียนเรื่อง ‘Monster คนปีศาจ’ และอ.อากิระ นะกะอิกับอ.ทาโร โนะกิซะกิ ผู้เขียนเรื่อง ‘Team Medical Dragon’ ที่ได้ตั้งประเด็นต่อระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นอย่างเผ็ดร้อนเช่นกัน และจากเดิมที่ผลงานของอ.เทะซึกะจะเป็นที่ไม่ชอบหน้าของผู้ใหญ่ในวงการแพทย์ ทุกวันนี้ อ.เทะซึกะได้รับการยอมรับให้เป็นปูชนียบุคคลของวงการ อย่างในการประชุมแพทยสภาแห่งญี่ปุ่นที่คันไซเมื่อปี 2015 ก็ได้มีการจัดนิทรรศการของแบล็คแจ็คเพื่อรำลึกถึงพระคุณนานัปการของผลงานที่อ.เทะซึกะได้สร้างไว้ให้ด้วย
เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์มากที่ผลงานการ์ตูนสักเรื่องจะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อวงการเฉพาะกลุ่มวงการหนึ่งจนกลายเป็นประเด็นสาธารณะระดับชาติและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมขนาดนี้ เชื่อว่าผลงานของอ.เทะซึกะจะเป็นแรงบันดาลใจและอิทธิพลที่สำคัญต่อผู้อ่านทั่วประเทศและทั่วโลกตลอดไปค่ะ
อ้างอิง ThoughtCo. , theguardian, TezukaInEnglish, Google Art & Culture, popMATTERS, Times Changes: Dr. TEZUKA Osamu and his Dr. Black Jack