“ไม่ใช่แค่เครื่องปรุง แต่ต้องขุดลึกลงไปในใจของคนกิน”
หากคุณพอจะคุ้นเคยกับปกการ์ตูนลายเส้นตัวละครลูกผู้ชายหุ่นกล้ามล่ำบึ้กราวกับหลุดออกมาจากยุทธจักรจีนกำลังภายในที่ไม่ได้กำลังออกกำลังกายหรือต่อสู้กับเหล่าร้าย หากแต่กำลังจับตะเกียบโซ้ยราเม็งอย่างเมามันลืมตายล่ะก็ไม่ต้องสับสนไป เพราะนั่นคือลายเส้นเอกลักษณ์ที่เป็นเสมือนลายเซ็นของ อ.สึจิยามะ ชิเงรุ เจ้าพ่อการ์ตูนอาหารลูกผู้ชายเลือดเดือดยังไงล่ะ!
อ.สึจิยามะ ชิเงรุ เกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1950 เป็นชาวเมืองคานาซาวะ จังหวัดอิชิคาวะ เขาลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน และเริ่มมาเอาดีด้านการเขียนการ์ตูน โดยเริ่มจากการเป็นผู้ช่วยของอ.โมจิสึกิ มิกิยะ นักเขียนเจ้าของผลงานชื่อดังอย่าง 7 สิงห์ประจัญบาน (Wild 7) อยู่นาน ก่อนจะเดบิวต์ผลงานเรื่องแรกของตัวเอง ดัลลัส โนะ อัตสึอิ ฮิ (Dallas no Atsui Hi) ในนิตยสารการ์ตูนรายเดือน โชเน็น แชมเปี้ยน ของสำนักพิมพ์อาคิตะโชเต็น (ฉบับเดียวกับการ์ตูนดังอย่าง Crows เรียกเขาว่าอีกา)
นอกจากการ์ตูนแนวนักเลงและการ์ตูนแนวย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์แล้ว การ์ตูนของอ.สึจิยามะในยุคแรกมักจะมีเนื้อเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความจริงจังของอาชีพ หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ (Baiou, 2004) พนักงานขาย (Dobu, 2001) หรือนักข่าว (Bakudan Kisha Fudoumaru) เขาก็สามารถเขียนออกมาให้เป็นการ์ตูนที่ดุเดือดเลือดพล่านได้
“ถ้าออกจากโรงพยาบาลเมื่อไหร่ จะไปกินราเม็งให้สะใจเลย!!”
อาจจะแปลกๆ สักหน่อย แต่จุดเริ่มต้นความสนใจในเรื่องอาหารของอ.สึจิยามะนั้นคืออาหารผู้ป่วยสุดจืดชืดที่ต้องกินวันละสามมื้อในช่วงที่ล้มป่วยโดนหามเข้าโรงพยาบาลเพราะโหมงานหนักเกินไป คนไข้คนอื่นๆ เองก็รู้สึกเหมือนกัน ในห้องผู้ป่วยแห่งนั้นจึงพูดคุยกันแต่เรื่องอาหารอร่อยๆ ที่อยากกินถ้าได้ออกจากโรงพยาบาลกันอย่างสนุกสนาน
ความทรงจำในวันนั้นผลักดันให้เขาเริ่มเขียนการ์ตูนอาหาร และการ์ตูนของเขาก็กลายเป็นที่รู้จักในแง่ความเร่าร้อนแบบลูกผู้ชาย รายละเอียดสีหน้าท่าทางขณะกิน รวมไปถึงเนื้อเรื่องที่แปลกใหม่ซึ่งเริ่มแสดงให้เห็นชัดใน ไอ้หนุ่มราเม็ง (Kenka Ramen Hakatasoup-Hen | บูรพัฒน์, 4 เล่มจบ) อดีตหัวหน้าแก๊งนักเลงที่มารับช่วงต่อร้านราเม็งจากพ่อ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารมังงะ โกราคุ รายสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 1995
หนึ่งในการ์ตูนทำอาหารยุคแรกๆ ที่ต้องพูดชื่อออกมาถ้าจะพูดถึงเขาก็คือ ซูเปอร์กุ๊ก กระตุกต่อมอร่อย (Shoku King, 1999 | บูรพัฒน์, 27 เล่มจบ) เรื่องราวของ คิตะคาตะ ซันไซ เชฟอัจฉริยะรุ่นที่สี่ของภัตตาคารชื่อดัง ฮาโกดาเตะโกะเรียวคาคุเทย์ ที่อยู่ดีๆ ก็ออกพเนจรและเปิดเว็บไซต์รับจ้างฟื้นฟูร้านอาหารทั่วราชอาณาจักรด้วยเหตุผลบางอย่าง
การฟื้นฟูร้านของคิตะคาตะนั้นเรียกได้ว่าครบวงจร ตั้งแต่มองหาจุดเด่นและจุดด้อยของร้าน ว่าอะไรควรรักษา พัฒนา ปรับปรุง หรือยกเลิก คิตะคาตะมองสิ่งเหล่านี้และตัดสิน (ด้วยภาพใบหน้าขึงขังขนาดใหญ่พาดสองหน้ากระดาษตะโกน) ว่า “ร้านนี้น่ะเจ๊งแน่นอน!” ได้ด้วยการชิมอาหารเพียงแค่คำเดียวเท่านั้น
การฟื้นฟูของคิตะคาตะนั้นครอบคลุมตั้งแต่การปรับปรุงเมนูใหม่ให้เหมาะกับร้าน ไปจนถึงวิธีที่สามัญสำนึกของผู้อ่านอย่างเราๆ นั้นไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าทำไมต้องจับพ่อครัวไปฝึกงานร้านปาจิงโกะ เก็บที่นอนหมอนมุ้ง หรือขัดห้องน้ำโรงแรม แต่หลังจบการฝึกและได้กลับมายังร้านของตัวเองที่คิตะคาตะตกแต่งใหม่ให้เรี่ยมเร้เรไรแล้ว (เขาควบคุมขั้นตอนการก่อสร้างและตกแต่งภายใน รวมถึงเลือกเฟอร์นิเจอร์เองอีกด้วย) พ่อครัวเหล่านั้นและพวกเราเหล่าคนอ่านก็จะได้เข้าใจเองว่า ทั้งหมดนั้นทำไปเพื่ออะไร
ถึงแม้วิธีการของคิตะคาตะจะค่อนข้างเผด็จการ (“ห้ามตั้งคำถาม!”) จนบางครั้งก็ตลกในตรรกะไปสักหน่อย เช่น ฟื้นฟูร้านราเม็งด้วยการให้ไปทำอย่างอื่นขาย หรือทุบร้านนี้ไปซะแล้วไปเปิดใหม่ที่อื่น (มันร้านของเขานะเว่ยเฮ่ย) แต่แท้จริงแล้วเขาทำไปเพื่อให้เหล่าพ่อครัวได้พบกับสิ่งสำคัญที่สุดที่หายไปของพวกเขา นั่นก็คือความรู้สึกดีๆ ในช่วงเวลาที่ได้เห็นรอยยิ้มมีความสุขของลูกค้าอีกครั้งนั่นเอง
เรื่องราวของคิตะคาตะยังมีต่อใน ซูเปอร์กุ๊ก กระตุกต่อมอร่อย 2 (Goku Shoku King | บูรพัฒน์, 5 เล่มจบ) ในภาคสั้นๆ นี้ เขาต้องเผชิญหน้ากับโคฟุคุคลับ เครือร้านอาหารขนาดใหญ่ที่มุ่งยึดครองธุรกิจร้านอาหารทั้งประเทศด้วยอาหารตำรับเกียวโต โดยเอาเนื้อปลาปักเป้าและวัตถุดิบชั้นเลิศมาปรุงอาหารขายในราคาถูก ทำเอาร้านเล็กๆ ในเกียวโตร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน เมื่อคิตะคาตะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือร้านเหล่านั้น โคฟุคุคลับก็โกรธแค้นและมุ่งเป้าหมายไปเล่นงานโกะเรียวคาคุเทย์ จุดที่ชอบของภาคนี้คือตอนที่คิตะคาตะฟื้นฟูร้านอาหารในละแวกเดียวกัน 5 ร้านรวดโดยสร้างโจทย์ที่ตั้งใจจะให้ทุกร้านได้ตระหนักถึงหัวใจในการทำร้านอาหารของตัวเองอีกครั้งนัั้นเป็นฉากที่ทรงพลังมากทีเดียว
“ไม่ว่าใครก็ย่อมต้องมีความทรงจำเกี่ยวกับอาหารที่ลืมไม่ลงอยู่แน่ๆ”
ความประทับใจเมื่อครั้งเข้าโรงพยาบาลยังทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองและการ์ตูนอาหารในยุคนั้น กลั่นกรองออกมาเป็นผลงานเรื่อง โกคุโด เมชิ (Gokudo Meshi, 2006) เรื่องราวประเพณีแปลกๆ ทุกคืนวันคริสต์มาสอีฟของเหล่านักโทษในเรือนจำที่โอซาก้า พวกเขาจะมานั่งล้อมวงประชันการเล่าเรื่องอาหารในความทรงจำของตัวเองว่าของใคร (ฟังแล้วน่า) จะอร่อยกว่ากัน ซึ่งแสดงให้เห็นความผูกพันของผู้คนต่อความทรงจำเกี่ยวกับอาหารได้อย่างลึกซึ้ง การ์ตูนเรื่องนี้โด่งดังจนได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา
“สิ่งที่ผมจำได้ดีที่สุดคือข้าวห่อสาหร่ายที่แม่ทำให้ในเช้าวันงานกีฬาตอนเด็กๆ ระหว่างที่ทำไปก็กินไป ความอร่อยนั้นมันรุนแรงจนตอนนี้ก็ยังจำได้ดี ประสบการณ์การกินแบบนี้แหละที่ยังไม่เคยมีใครวาดมาก่อน ผมก็เลยเริ่มวาดการ์ตูนอาหารแบบนี้” อ. สึจิยามะกล่าว
ทุกครั้งที่ไปร้านอาหารเพื่อเก็บข้อมูล เขาไม่เคยคว้ากล้องขึ้นมาถ่ายภาพอาหาร แต่ตั้งใจลิ้มรสอาหาร ดื่มสุรา แกล้มบทสนทนาสนุกๆ กับทั้งเจ้าของร้านและลูกค้าที่แวะเวียนผ่านมา เพื่อซึมซับเอาบรรยากาศและความรู้สึกไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเขายืนยันเองว่าทำแบบนี้แล้วเขียนการ์ตูนได้ดีกว่า ด้วยความคิดที่ว่าถึงจะมีการ์ตูนที่มีภาพอาหารอยู่มากมาย แต่การ์ตูนที่ขุดลึกลงไปในใจคนกินกลับไม่มีอยู่เลย การ์ตูนของอ.สึจิยามะจึงไม่เหมือนใครตรงที่ไม่ได้พูดถึงแต่ฝั่งของพ่อครัวเท่านั้น
ผลงานปฏิวัติวงการอีกเรื่องหนึ่งของเขาคือ ยุทธภูมิกระเพาะเหล็ก (Kuishinbou, Gourmet Fighter | บูรพัฒน์, 24 เล่มจบ) โอฮาระ มังทาโร่ พนักงานออฟฟิศผู้รักการกินเห็นป้ายประกาศว่าหากกินข้าวหมูทอด 10 ชาม ได้ภายใน 30 นาที ก็จะได้เงินรางวัลไปเลย 10,000 เยน ด้วยความบ่จี๊และกำลังหิวสุดๆ เขาจึงตัดสินใจเข้าไปท้าทาย แต่กินไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องยกธงขาว กระนั้นเขาก็ได้พบกับโปรฟู้ดไฟเตอร์ (นักกินจุมืออาชีพ) ที่เล็งเห็นคุณสมบัติในตัวเขา จึงชักชวนเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อล้ม OKFF กลุ่มฟู้ดไฟเตอร์ที่กินจุโดยไม่ให้เกียรติอาหารและพ่อครัว (เช่น โกงโดยเอาขนมปังแช่น้ำแล้วซด)
เนื้อหา 24 เล่มของการ์ตูนอาหารแนวแปลกใหม่ที่ไม่ได้มุ่งเน้นการแข่งขันทำอาหารแต่กลับเป็นการแข่งกินจุยัดทะนานเรื่องนี้ เริ่มต้นจากชีวิตของมังทาโร่ที่เริ่มหันเหเข้าสู่วงการนักกินจุ ออกตะลอนท้าทายทั่วญี่ปุ่นเพื่อฝึกฝน ต่อด้วยการแข่งขันกินจุระดับประเทศ และการแข่งขันในต่างประเทศ ระหว่างทางนั้นคู่แข่งและอาหารที่นำมาเป็นโจทย์แข่งกินจุกันนั้นก็ทวีความยากเย็นขึ้นเรื่อยๆ ผู้อ่านอย่างเราก็จะได้เรียนรู้เทคนิคการกินสิ่งต่างๆ ให้ได้เยอะๆ โดยที่ยังอร่อยอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังได้เปลี่ยนความเข้าใจผิดๆ หลายอย่างผ่านการอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ เช่น คนอ้วนไม่ได้กินได้เยอะกว่าคนผอม หรือว่าการไม่ได้กินข้าวมาทั้งวันนั่นแหละที่จะทำให้เรากินเนื้อย่างบุฟเฟ่ต์มื้อเย็นได้ไม่คุ้ม
ในปี 2007 การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลสมาคมนักเขียนการ์ตูนแห่งประเทศญี่ปุ่นครั้งที่ 36 ได้รับการดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์คนแสดง และยังมีภาคต่อเป็นศึกกินจุระดับมัธยมในชื่อ ชมรมกระเพาะเหล็ก (Oogui Koushien | 6 เล่มจบ) อีกด้วย
“ก่อนหน้านี้ได้ร่วมงานกับคุณมาซายูกิ คุซุมิ ซึ่งเขาเคยร่วมงานกับอาจารย์ทานิกุจิ จิโร่ ที่วาดภาพได้สวยสุดๆ ผมเองก็ต้องฝึกวาดภาพให้เก่งขึ้น เร็วขึ้นอีก เพื่อไม่ให้แพ้ จริงๆ ถ้ายอมรับความพ่ายแพ้ไปอาจจะดีกว่านี้ก็ได้นะ (หัวเราะ)” อ. สึจิยามะ พูดถึงชีวิตนักเขียนการ์ตูนวัยเลยเกษียณมาหลายปีของเขา
“ผมใช้ชีวิตในฐานะนักเขียนการ์ตูนเรื่อยมา คนรอบตัวที่เจอกันในงานเลี้ยงรุ่นก็เกษียณไปหมดแล้ว มองดูรูปหลานในมือถือผมก็คิดว่าน่าจะได้เวลาเกษียณตัวเองแล้วเหมือนกัน แต่ความกลัวจะว่างงานมันก็ติดแน่นอยู่ในหัว เป็นมาตั้งแต่ช่วงอายุ 30 ช่วงนั้นงานมันไม่ค่อยจะมี ฉะนั้นมีงานอะไรเข้ามาก็เลยมักจะพูดว่า ทำครับ ทำครับ อยู่ตลอด.. ก็อยากจะขอบคุณตัวเองในตอนนั้น ที่ทำให้ตอนนี้แทบจะไม่มีเวลาพักเลย”
ตลอดหลายปี อ.สึจิยามะเป็นนักเขียนที่รังสรรค์ผลงานการ์ตูนชั้นยอดไว้กว่า 36 เรื่อง นอกจากฝีมือในการวาดภาพที่ไม่หยุดนิ่งแล้ว หากสังเกตในผลงานยุคหลังอย่าง จอมเก๋า เจ้าราเม็ง (Jadou | บูรพัฒน์, 3 เล่ม) ซึ่งแม้จะมีฉากการทำราเม็งและคิดค้นสูตรราเม็งใหม่ๆ แต่นี่ก็ไม่ใช่การ์ตูนที่แข่งฝีมือการทำอาหารกัน หากแต่เป็นการ์ตูนหักเหลี่ยมเฉือนคมทางธุรกิจที่มีบรรยากาศเคลือบแคลงดำมืด ต่างจากการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ซึ่งมีบรรยากาศลูกผู้ชายเลือดร้อนมากกว่านี้ แสดงให้เห็นความพยายามของเขาที่จะนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการ์ตูนอาหารอยู่เสมอแม้อยู่ในวัย 60 แล้ว โดยในปี 2012 ที่ผ่านมา อ.สึจิยามะก็ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อการ์ตูนอาหาร ณ พิพิธภัณฑ์มังงะนานาชาติเกียวโตอีกด้วย
เพราะอาหารเป็นสิ่งที่จะขาดไปเสียไม่ได้ในการดำรงชีวิตของคนเรา อาหารจึงมักจะผูกโยงอยู่กับความทรงจำ ทั้งดี ทั้งร้าย ทั้งสุข ทั้งเศร้า คุณเองก็คงจะมีอาหารสักจานที่หากได้คิดย้อนกลับไปทีไร รสสัมผัสของมันก็จะผุดกลับขึ้นมาบนลิ้นและทำให้เราน้ำตาไหลออกมาอย่างไม่รู้ตัวอยู่เหมือนกัน และนั่นก็คือสิ่งที่อ.สึจิยามะพยายามนำเสนอมาตลอดหลายปี เขาไม่ได้เป็นเพียงนักเขียนการ์ตูนที่สามารถรังสรรค์การ์ตูนอาหารออกมาได้อย่างโดดเด่น แต่ยังเป็นผู้บุกเบิกโลกอันกว้างใหญ่ เนื้อเรื่องอันแปลกใหม่ รวมไปถึงมุมมองในแง่อื่นๆ ของการ์ตูนอาหารที่แม้แต่นักเขียนชื่อดังหลายๆ คน ก็ไม่สามารถก้าวเข้าไปได้ หากวันนี้คุณได้อิ่มอร่อยกับทั้งการ์ตูนและอาหารอย่างเต็มที่แล้วล่ะก็ ขอให้ใช้พลังงานนั้นให้คุ้มด้วยการลองมองชีวิตและโลกรอบตัวคุณในแง่ที่แตกต่างออกไป ไม่แน่ว่าคุณเองก็อาจจะเป็นผู้ที่บุกเบิกโลกใบใหม่ให้คนอื่นๆ ได้เช่นกัน
SPOTLIGHT! เรื่องนี้ที่เราแนะนำ
จอมเก๋า เจ้าราเม็ง (Jadou | 3 เล่ม ยังไม่จบ)
คาดว่าทั่วประเทศมีร้านราเม็งเปิดทำการอยู่กว่า 35,000 ร้าน แต่ที่ได้รับยกย่องว่ามาแรงที่สุดก็คือ เม็งโดโคโระ เท็นชุคาคุ ร้านราเม็งซึ่งไต่เต้ามาจากการเป็นราเม็งแผงลอย จนกลายเป็นร้านใหญ่ที่ขยายไปถึง 3 สาขา ของ คามิโจ ริวจิ อดีตนักเลงหัวไม้ ที่พลิกชีวิตมาเป็นมหาเศรษฐีมีทั้งคฤหาสน์และรถหรูๆ ได้ด้วยราเม็ง เรื่องราวของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มที่มีฝันจะเป็นใหญ่มากมาย ทว่าวันหนึ่งเขาก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกะทันหัน ทำให้ภรรยาม่ายต้องมารับช่วงต่อธุรกิจยักษ์ใหญ่ และบรรยากาศระหว่างหัวหน้าร้านสาขาก็เริ่มไม่ชอบมาพากล
ขณะเดียวกันนั้นเอง ที่ร้านเท็นชุคาคุสาขาฮนมารุก็ได้รับพนักงานใหม่เข้ามา 3 คน หนึ่งในนั้นคือ เฮียวโด ชินสุเกะ นักศึกษาบริหารธุรกิจที่ได้รับข้อเสนอให้เข้าทำงานในบริษัทชั้นนำหลายสิบแห่ง แต่กลับสละสิทธิ์และลาออกกลางคันมาสมัครงานร้านราเม็งด้วยเหตุผลบางอย่าง การมาของเขากำลังจะสร้างจุดเปลี่ยนมหาศาลแก่ร้านเท็นชุคาคุ
แม้จะมีฉากการทำราเม็งและคิดค้นสูตรราเม็งใหม่ๆ แต่นี่ก็ไม่ใช่การ์ตูนที่แข่งฝีมือการทำอาหารกัน หากแต่เป็นการ์ตูนหักเหลี่ยมเฉือนคมทางธุรกิจที่มีบรรยากาศเคลือบแคลงดำมืดสมกับชื่อเรื่องภาษาญี่ปุ่น 邪道 ซึ่งแปลว่า นอกรีต ต่างจากการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ของอ.สึจิยามะ ซึ่งมีบรรยากาศลูกผู้ชายเลือดร้อนมากกว่านี้ ทั้งบนหน้าปกและในเรื่องจะปรากฏภาพของงูเห่าและเงินเป็นสัญลักษณ์อยู่เป็นระยะๆ แทบทุกตัวละครมีอดีต ความลับ เป้าหมาย ที่แตกต่างกันกันไป สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้ตัวละครแต่ละตัวตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ซึ่งผิดเป็นอย่างยิ่ง คนอ่านอย่างเราก็จะได้ลุ้นแทบทุกหน้าว่าใครจะปลดปล่อยด้านมืดของตัวเองออกมาก่อนกัน ปัจจุบันวางแผงในไทยแล้ว 3 เล่ม ส่วนที่ญี่ปุ่นจบแล้วที่เล่ม 4
เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล excite.co.jp